fbpx

โรคไต ดื่มน้ำ อะไรได้บ้าง 

โรคไตเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคหนึ่งที่มีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารอาจทำให้เกิดความสับสนและไม่เข้าใจให้แก่ญาติและผู้ป่วย จนหลายครั้งอาจเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับประทานอาหารจนไปเร่งความเสื่อมของโรคไตได้  

โรคไต ดื่มน้ำ อะไรได้ไหม นอกจากน้ำเปล่า ? ผู้ป่วยโรคไตอาจจะเบื่อ อยากดื่มเครื่งดื่มอื่น ๆ ซึ่ง ในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตเครื่องดื่มใหม่ๆที่น่าสนใจหลายแบบ ทั้งมีการแต่งสี แต่งกลิ่น เติมวิตามินและเกลือแร่ หรือสารอาหารอื่นๆลงในเครื่องดื่ม เพื่อให้เป็นที่น่าดึงดูดแก่ผู้ซื้อ แต่ในทางกลับกันหากผู้ป่วยโรคไตดื่มเครื่องดื่มที่มีการเติมสารอาหารเหล่านั้น หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอาจเกิดผลเสียต่อไตจนทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นได้1

ดังนั้นเราจึงรวมรวบแนวทางการเลือกเครื่องดื่มในผู้ป่วยโรคไต รวมถึงแนะนำเครื่องดื่มที่แนะนำและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคไตในแต่ละระยะ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องดื่มได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 

การแบ่งระยะของโรคไต

โรคไตแบ่งเป็น 2 ระยะหลักคือ ระยะก่อนฟอกไตและระยะหลังฟอกไต โดยระยะก่อนฟอกไตจะแบ่งเป็นอีก 5 ระยะย่อยดังภาพ 

ตารางที่ 1 การจัดระยะโรคไตเรื้อรังในระยะก่อนฟอกไต

โดยโรคไตในแต่ละระยะจะมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารไม่เหมือนกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากที่นี่ กินอย่างไรเมื่อ (ไต) ถามหา

โดยผู้ป่วยโรคไตในระยะต้น (ระยะที่ 1-2) หากมีการควบคุมอาหารและควบคุมโรคประจำตัวได้เป็นอย่างดีจะสามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ ผู้ป่วยโรคไตระยะกลางจนถึงระยะท้ายหากได้รับคำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเป็นอย่างดีจะสามารถชะลอความเสื่อม ลดโรคแทรกซ้อนและลดโอกาสในนอนรักษาในโรงพยาบาลได้มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับคำแนะนำ2 

การจำกัดน้ำดื่มในโรคไตแต่ละระยะ

โรคไต กับ การ ดื่มน้ำ เพื่อป้องกันและชะลอความเสื่อมของโรคไตในแต่ละระยะ 

โรคไตระยะที่ 1 และ โรคไตระยะที่ 2

คือกลุ่มคนที่มีค่าอัตราการกรอง (eGFR) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 และ 60 – 89 ตามลำดับ มีงานวิจัยพบว่าในกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าประมาณ 1.7 – 2 ลิตรต่อวัน ติดตามต่อเนื่อง 1 ปีพบว่ามีแนวโน้มที่ค่า eGFR จะดีขึ้นหรือไม่ลดลงไปจากเดิม แต่ในกลุ่มดื่มน้ำเปล่าน้อยกว่านั้นมีแนวโน้มที่ค่า eGFR จะค่อยๆลดลง3 

โรคไตระยะที่ 3 และ โรคไตระยะที่ 4

คือกลุ่มคนที่มีค่าอัตราการกรอง (eGFR) ตั้งแต่ 30 – 59 และ 15 – 29 ตามลำดับ มีงานวิจัยพบว่าหลังจากติดตามต่อเนื่อง 3 ปี ในกลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่ามากกว่า 2 ลิตรต่อวันอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำเพียง 1 – 1.5 ลิตรต่อวัน งานวิจัยชิ้นนี้จึงแนะนำให้ดื่มน้ำประมาณ 1 – 2 ลิตรต่อวันในผู้ป่วยโรคไตในระยะนี้ 

ผู้ป่วยโรคไตในระยะที่ 4 ,โรคไตระยะที่ 5 และผู้ป่วยระยะหลังฟอกไต

คือกลุ่มคนที่มีค่าอัตราการกรอง (eGFR) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 29 และผู้ป่วยที่มีการฟอกไต ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อประเมินปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันเนื่องจากการดื่มน้ำมากเกินความสามารถในการขับออก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำเกินจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้รวมถึงเป็นการเร่งความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 4 และระยะที่ 5 อีกด้วย5 

ชนิดของเครื่องดื่ม6 และข้อแนะนำในการเลือกเครื่องดื่มในผู้ป่วยโรคไตแต่ละระยะ 

โรคไตระยะ 1 – 3A   

ผู้ป่วยในระยะนี้หากไม่มีโรคประจำตัว แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อย 1.7 – 2 ลิตรต่อวัน3 ส่วนเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ มีคำแนะนำดังนี้

1.เครื่องดื่มที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ปิดสนิท แนะนำให้อ่านฉลากก่อนเลือกซื้อ โดยมองหาฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ  ร่วมกับการอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากโภชนาการแบบ GDA เพื่อดูปริมาณน้ำตาลที่มีในบรรจุภัณฑ์ โดยเลือกเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า

ฉลากทางเลือกสุขภาพ
gda-ewc
GDA label

2. เครื่องดื่มชงตามร้านค้า แนะนำให้สั่งแบบร้อนหรือเย็น แก้วขนาดเล็กที่สุดและสั่งแบบหวานน้อย หากเลือกเป็นเครื่องดื่มแบบไม่ใส่นมจะมีน้ำตาลและพลังงานน้อยกว่าเครื่องดื่มที่ใส่นม และพยายามเลี่ยงการเพิ่มไข่มุก ครีมชีสหรือวิปปิ้งครีม และเลือกดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ไม่เกิน 1 แก้วต่อวันเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานและน้ำตาลเกินความจำเป็น

ผู้ป่วยในระยะนี้หากมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อย 1.7 – 2 ลิตรต่อวัน3 ลดเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีใส่น้ำตาล น้ำผลไม้และเครื่องดื่มนมที่ใช้นมข้นเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากอาจทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดขึ้นจนทำให้ไตเสื่อมได้เร็วขึ้น

โรคไตระยะ 3B – 5

ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวหรือไม่มีโรคประจำตัว ควรเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกนมไม่ว่าจะเป็นนมจากพืชหรือสัตว์ เครื่องดื่มโคล่าอัดก๊าซ เนื่องจากมีปริมาณฟอสฟอรัสสูง อาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต7,8  และไม่แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผลไม้บางส่วนมีโพแทสเซียมและน้ำตาลสูง หากดื่มเป็นประจำอาจทำให้โพแทสเซียมและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น9

เครื่องดื่มที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ปิดสนิทและเครื่องดื่มชงตามร้านสามารถใช้วิธีการเลือกเครื่องดื่มข้างต้น

ระยะหลังฟอกไต

          ผู้ป่วยในระยะนี้จะใช้เทคนิคการเลือกเครื่องดื่มเหมือนกับโรคไตระยะ 3B- 5 แต่เพิ่มเรื่องการจำกัดน้ำตามคำสั่งของแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้มีภาวะน้ำเกินจนเป็นอันตรายต่อชีวิต

โรคไต ดื่มน้ำ อะไรได้บ้าง?

เครื่องดื่มที่ไม่แนะนำในผู้ป่วยทุกกลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, น้ำต้มสมุนไพรเข้มข้น, น้ำสมุนไพรที่เติมน้ำตาล, เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง9 เป็นต้น

เครื่อมดื่ม ที่เหมาะสมกับโรคไต แต่ระยะ

เครื่องดื่มที่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารที่ดูแลก่อนเลือกดื่ม ได้แก่  อาหารทางการแพทย์  เนื่องจากอาหารทางการแพทย์มีความจำเพาะต่อโรคไต ดูเพิ่มเติมที่นี่ อาหารการแพทย์ สูตรไหน เหมาะกับโรคไหน เครื่องดื่มเสริมโปรตีน  เป็นต้น ส่วนเครื่องดื่มอื่น ๆ สามารถดูได้ตามตารางรูปข้างล่างนี้

  • สีเขียว – รับประทานได้
  • สีเหลือง – ควรได้รับคำแนะนำหรืออ่านฉลากก่อน
  • สีแดง – ไม่แนะนำให้รับประทาน

ตารางที่ 2 ตารางสรุปคำแนะนำเรื่องการเลือกเครื่องดื่มในผู้ป่วยโรคไตแต่ละระยะ

(เฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคไต หากมีโรคอื่นร่วมด้วยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเฉพาะบุคคล)  

เป็นโรคไตดื่มน้ำอะไรได้บ้าง-EWC
ตรารางเครื่องดื่มโรคไต

สรุป

          การเลือกเครื่องดื่มได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และดื่มในปริมาณที่ไม่มาก อาจช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในแง่ของความหลากหลายด้านกลิ่นและรสชาติ แต่อย่างไรก็ตามควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกำหนดอาหารที่คุณดูแลอยู่ก่อนเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีการเติมสารอาหาร เพื่อให้เหมาะสมกับโรคประจำตัว

          การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลเป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน9 ดังนั้นควรจำกัดการรับประทานน้ำตาลให้ไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน10

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

เอกสารอ้างอิง

  1. Cai, X. Y., Zhang, N. H., Cheng, Y. C., Ge, S. W., & Xu, G. (2021). Sugar-sweetened beverage consumption and mortality of chronic kidney disease: results from the US National Health and Nutrition Examination Survey, 1999-2014. Clinical kidney journal, 15(4), 718–726. https://doi.org/10.1093/ckj/sfab227
  2. Pérez-Torres, A., González García, M. E., Ossorio-González, M., Álvarez García, L., Bajo, M. A., Del Peso, G., Castillo Plaza, A., & Selgas, R. (2021). The Effect of Nutritional Interventions on Long-Term Patient Survival in Advanced Chronic Kidney Disease. Nutrients13(2), 621. https://doi.org/10.3390/nu13020621
  3. Ivanova, M. D., Gozhenko, A. I., Crestanello, T., & Ivanov, D. D. (2020). Early Coaching to Increase Water Intake in CKD. Annals of nutrition & metabolism76 Suppl 1, 69–70. https://doi.org/10.1159/000515276
  4. Wagner, S., Merkling, T., Metzger, M., Bankir, L., Laville, M., Frimat, L., Combe, C., Jacquelinet, C., Fouque, D., Massy, Z. A., Stengel, B., & CKD-REIN study group (2022). Water intake and progression of chronic kidney disease: the CKD-REIN cohort study. Nephrology, dialysis, transplantation : official publication of the European Dialysis and Transplant Association – European Renal Association37(4), 730–739. https://doi.org/10.1093/ndt/gfab036
  5. Tsai, Y. C., Tsai, J. C., Chen, S. C., Chiu, Y. W., Hwang, S. J., Hung, C. C., Chen, T. H., Kuo, M. C., & Chen, H. C. (2014). Association of fluid overload with kidney disease progression in advanced CKD: a prospective cohort study. American journal of kidney diseases : the official journal of the National Kidney Foundation63(1), 68–75. https://doi.org/10.1053/j.ajkd.2013.06.011
  6. แนวทางการจัดหมวดอาหาร 17 ประเภท. March 31,2022. กองอาหาร สำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. https://www.fda.moph.go.th/sites/food/Shared%20Documents/typefood/type17.pdf
  7. Saldana, T. M., Basso, O., Darden, R., & Sandler, D. P. (2007). Carbonated beverages and chronic kidney disease. Epidemiology (Cambridge, Mass.)18(4), 501–506. https://doi.org/10.1097/EDE.0b013e3180646338
  8. González-Parra, E., Gracia-Iguacel, C., Egido, J., & Ortiz, A. (2012). Phosphorus and nutrition in chronic kidney disease. International journal of nephrology2012, 597605. https://doi.org/10.1155/2012/597605
  9. Rebholz, C. M., Young, B. A., Katz, R., Tucker, K. L., Carithers, T. C., Norwood, A. F., & Correa, A. (2019). Patterns of Beverages Consumed and Risk of Incident Kidney Disease. Clinical journal of the American Society of Nephrology : CJASN, 14(1), 49–56. https://doi.org/10.2215/CJN.06380518
  10. Draft guideline: sugars intake for adults and children. 2014. World Health Organization. http://www.who.int/nutrition/sugars_public_consultation/en/
ส่งข้อความถึงเรา