fbpx

คนโรคไต กินผลไม้ ได้หรือไม่

สำหรับคนเป็นโรคไตมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการกินอาหาร จนอาจทำให้เกิดความสงสัยว่าตกลงแล้วกินอะไรได้บ้าง และห้ามกินอะไรบ้าง แล้วอย่างประเทศไทยที่มีผลไม้มากมายหลากหลายชนิด ก็อาจเป็นอีกคำถามที่ทำให้สงสัยกันว่า คนโรคไตห้ามกินผลไม้อะไร คนโรคไตกินผลไม้อะไรได้บ้าง คนโรคไตต้องกินผลไม้แค่ไหน ลองมาดูข้อมูลกันเลย

ทำไม คนโรคไต ต้องคุม โพแทสเซียม ให้ปกติ

คนโรคไต หรือ ผู้ป่วยโรคไต คือคนที่การทำงานของไตลดลง ทำให้ไม่สามารถกำจัดของเสียหรือแร่ธาตุส่วนเกินออกจากร่างกายได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งทำให้เกิดการค้างอยู่ในเลือดเป็นปริมาณมากและอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้หลายอย่าง เช่น

  • ผิวแห้ง คันตามผิวหนัง แผลหายช้า
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะบ่อยและจาง (ในระยะแรก) และ ปัสสาวะน้อย (ในระยะหลัง)
  • เกิดภาวะกระดูกพรุน
  • มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

และเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคไตควบคุมระดับแร่ธาตุในเลือดอยู่ในช่วงที่เหมาะสม โดยแร่ธาตุที่สำคัญที่สามารถพบได้ในผลไม้คือ โพแทสเซียม ซึ่งต้องควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือดอยู่ที่ 5  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดย

  • ควบคุมให้ได้โพแทสเซียมจากอาหารไม่เกิน 3,500 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ควบคุมปริมาณโพแทสเซียมจากอาหารไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อมีระดับโพแทสเซียม > 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยต้องควบคุมปริมาณโพแทสเซียมจากการกิน ซึงผลไม้ที่เป็นแหล่งของแร่ธาตุตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเกิดความสงสัยว่าสามารถกินผลไม้อะไรได้บ้างและสามารถกินได้ในปริมาณเท่าไหร่กันแน่

ผลไม้อะไร ที่ คนโรคไต กินได้

ผลไม้เป็นหนึ่งในอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวัง เพราะผลไม้ถือเป็นแหล่งของโพแทสเซียม ที่ถ้าหากควบคุมได้ไม่ดีจะทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งสามารถแบ่งการกินผลไม้ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตามระดับโพแทสเซียมในเลือดได้ ดังนี้

  • < 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

สามารถกินผลไม้ได้ทุกชนิด แต่ก็ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสมอยู่ที่วันละ 3 – 5 ส่วนต่อวัน โดยแนะนำให้เลือกเป็นผลไม้ที่มีระดับโพแทสเซียมต่ำ หรืออาจเลือกกินเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลางแต่กินในปริมาณที่ลดลง โดยพยายามเลือกกินผลไม้ให้หลากหลายชนิดสลับกัน

  • 5 – 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ต้องระวังการกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง แต่ยังสามารถกินผลไม้ที่มีระดับโพแทสเซียมต่ำได้วันละ 1 – 2 ส่วน หรือจะเลือกกินเป็นผลไม้โพแทสเซียมปานกลางในปริมาณ 1 ส่วนแทนก็ได้เช่นกัน

  • > 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ให้งดการกินผลไม้ เพราะผลไม้จัดเป็นแหล่งของโพแทสเซียม

ตารางการแบ่งกลุ่มของผลไม้ตามปริมาณโพแทสเซียมต่อผลไม้ 1 ส่วน

กลุ่มโพแทสเซียมต่ำ (น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม)

ชนิดผลไม้ ปริมาณต่อ 1 ส่วน
มังคุด4 ผล (64 กรัม)
แอปเปิ้ลแดงวอชิงตัน1 ผลเล็ก (100 กรัม)
อ้างอิงจาก : กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. (2553). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/fruit_nutritioin3.pdf

กลุ่มโพแทสเซียมปานกลาง (100 – 200 มิลลิกรัม)

ชนิดผลไม้ปริมาณต่อ 1 ส่วน
กล้วยไข่2 ผลเล็ก (50 กรัม)
กล้วยน้ำว้า1 ผลเล็ก (40 กรัม)
ขนุน2 ยวง (60 กรัม)
เงาะ4 ผล (72 กรัม)
ทุเรียน½ เม็ดกลาง (40 กรัม)
มะเฟือง1 ผล (150 กรัม)
มะยงชิด3 ผล (90 กรัม)
ลำไย9 ผล (76 กรัม)
ลิ้นจี่6 ผล (75 กรัม)
ส้มเขียวหวาน1 ผล (100 กรัม)
สับปะรด5 ชิ้นคำ (100 กรัม)
องุ่นเขียว15 ผล (100 กรัม)
องุ่นไร้เมล็ด8 ผล (80 กรัม)
แอปเปิลเขียว1 ผลเล็ก (100 กรัม)
แอปเปิลสายฟูจิ1 ผลเล็ก (100 กรัม)
อ้างอิงจาก : กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. (2553). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/fruit_nutritioin3.pdf

กลุ่มโพแทสเซียมสูง (มากกว่า 200 มิลลิกรัม)

ชนิดผลไม้ปริมาณต่อ 1 ส่วน
แก้วมังกร¼ ผล (80 กรัม)
แคนตาลูป8 ชิ้นคำ (200 กรัม)
ชมพู่ทับทิมจันทน์2 ผลกลาง (250 กรัม)
ตะขบ20 ผลกลาง (60 กรัม)
แตงโม8 ชิ้นคำ (170 กรัม)
ฝรั่ง½ ผล (120 กรัม)
เนื้อมะพร้าวอ่อน1 ลูก (123 กรัม)
น้ำมะพร้าวอ่อน1 ลูก (259 กรัม)
มะม่วง½ ผล (140 กรัม)
มะละกอ8 ชิ้นคำ (144 กรัม)
สตอว์เบอร์รี่9 ผล (170 กรัม)
ส้มโอ2 กลีบ (100 กรัม)
สาลี่1 ผลเล็ก (110 กรัม)
องุ่นแดงผลใหญ่7 ผล (90 กรัม)
อ้างอิงจาก : กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. (2553). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/fruit_nutritioin3.pdf

จากคำถามที่ว่า คนโรคไต กินผลไม้ ได้หรือไม่ ก็สามารถตอบได้ว่า กินได้ โดยผู้ป่วยโรคไตที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือด < 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถกินผลไม้ได้ 3 – 5 ส่วนต่อวัน หรือถ้าเลือกเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงควรกินในปริมาณ 1 – 2 ส่วนเท่านั้น และสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียม 5 – 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรก็สามารถกินได้ในปริมาณ 1 – 2 ส่วนต่อวัน โดยเลือกเป็นผลไม้ชนิดที่มีปริมาณโพแทสเซียมต่ำหรือปานกลางในปริมาณที่ลดลง แต่ถ้าผู้ป่วยมีระดับของโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรก็ควรงดการกินผลไม้ และปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของการควบคุมอาหาร เพราะอย่าลืมว่าแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ได้มีอยู่แต่ในผลไม้เท่านั้น จึงควรกินให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันการได้รับโพแทสเซียม หรือแร่ธาตุอื่น ๆ มากกว่าที่ควรได้รับต่อวันนั่นเอง

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

อ้างอิงจาก

  1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย , คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2558 ,เข้าถึงจาก http://doh.hpc.go.th/data/HL/CKD_2015.pdf
  2. ศิรินทร์ จิวากานนท์ และคณะ , คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561, เข้าถึงจาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJPEN/article/view/248367/168872
  3. กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข. (2553). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/file/fruit_nutritioin3.pdf
ส่งข้อความถึงเรา