ในปัจจุบัน อาหารทางการแพทย์ มีมากมายหลายผลิตภัณฑ์ให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปเลือกใช้ ดังนั้นการมีความรู้พื้นฐานในการเลือกใช้อาหารทางการแพทย์ เป็นโรคไหน กินสูตรไหน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นอย่างเหมาะสม
อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) คืออะไร อาหารทางการแพทย์ หรือ อาหารที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการสารอาหารแบบจำเพาะ โดยผู้ป่วยอาจมีภาวะขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยอาหาร ดังนั้น อาหารทางการแพทย์จึงมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง สารอาหารหลัก คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน รวมถึงสารอาหารรอง ได้แก่ วิตามิน และเกลือแร่ ตามความต้องการของร่างกาย โดยมีทั้งรูปแบบผงสำหรับชงและของเหลวบรรจุผลิตภัณฑ์ สามารถให้เป็นอาหารดื่มเสริมทางปากและเป็นอาหารสำหรับให้ทางสายให้อาหารได้เช่นกัน
อาหารทางการแพทย์ มีกี่สูตร เลือกแบบไหนถึงเหมาะกับโรค อาหารทางการแพทย์ในปัจจุบันที่วางจำหน่าย สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
1. อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วน หรือ สูตรมาตรฐาน (Standard Formula, Polymeric Formula) เป็นสูตรอาหารที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เหมาะสมกับบุคคลทั่วไป หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวแต่ไม่ได้ต้องการสารอาหารจำเพาะ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น โดยสามารถใช้อาหารทางการแพทย์เป็นอาหารเสริมในมื้ออาหาร หรือเป็นอาหารทดแทนมื้อก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนเช่น เอนชัวร์ (Ensure) , บูสท์ ออปติมัม (Boost Optimum), นิวเทร็น ไฟเบอร์ (Nutren Fiber), วันซ์ คอมพลีท (Once Complete), เบล็นเดอร่า (Blendera), แพน เอ็นเทอราล (Pan-enteral), เฟรซูบิน ทูว เคแคล (Fresubin 2 kcal), เจวิตี้ (Jevity), ไอโซคาล (Isocal) เป็นต้น
ตัวอย่าง อาหารทางการแพทย์ สูตรมาตรฐาน ENSURE เอนชัวร์ อาหารสูตรครบถ้วน ปริมาณ 850 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ พลังงานต่อการชง1ครั้ง 60.6 กรัม/ 262kcal ราคา 1090 บาท*
*ราคาประมาณการ บูสท์ ออปติมัม (Boost Optimum) ปริมาณ 800 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ พลังงานต่อการชง1ครั้ง 55 กรัม/ 251kcal ราคา 870 บาท*
*ราคาประมาณการ เบลนเดอร่า (Blendera) ปริมาณ 2500 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้สูงอายุขาดสารอาหาร พลังงานต่อการชง1ครั้ง 50 กรัม/ 225kcal ราคา 730 บาท*
*ราคาประมาณการ วันซ์ คอมพลีท (Once Complete) ปริมาณ 400 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ พลังงานต่อการกชง1ครั้ง 56 กรัม/ 240kcal ราคา 420 บาท*
*ราคาประมาณการ เฟรซูบิน ทูว เคแคล (Fresubin 2 kcal) ปริมาณ 1ขวด 200 มิล/ แพ็ค 4ขวด เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ พลังงานต่อ 1 ขวด 200 มิล / 400kcal ราคา 750 บาท*
*ราคาประมาณการ 2. อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (Disease-specific Formula) เป็นสูตรที่มีการปรับเปลี่ยนสารอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโรค เช่น
2.1 สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นสูตรที่มีการปรับสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตลดลง ลดปริมาณน้ำตาล เพิ่มสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยและดูดซึมได้อย่างช้า ๆ เพิ่มปริมาณใยอาหาร เพื่อทำให้สูตรเบาหวานมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index; GI) ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้ดีมากขึ้น สามารถใช้เป็นอาหารทดแทนมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยระยะก่อนเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ก็จะช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักตัว และระดับน้ำตาลให้ดีขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่าง สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น กลูเซอร์น่า เอสอาร์ ทริปเปิ้ลแคร์ (Glucerna SR Triple Care), บูสท์ แคร์ (Boost Care), นิวเทร็น บาลานซ์ (Nutren Balance), เจ็น ดีเอ็ม (Gen-DM), วันซ์โปร (Once Pro) เป็นต้น
ตัวอย่าง อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน กลูเซอนา เอสอาร์ ทริปเปิ้ลแคร์ (Glucerna SR Triple Care )ปริมาณ 850 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน พลังงานต่อการชง1ครั้ง 52.1 กรัม/ 226 kcal ราคา 1356 บาท*
*ราคาประมาณการ บูสท์ แคร์ (Boost Care) ปริมาณ 800 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน พลังงานต่อการชง1ครั้ง 55 กรัม/ 250 kcal ราคา 890 บาท*
*ราคาประมาณการ เจ็น ดีเอ็ม (Gen-DM) ปริมาณ 2500 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูงในเลือด พลังงานต่อการชง1ครั้ง 40 กรัม/ 180 kcal ราคา 1700 บาท*
*ราคาประมาณการ วันซ์โปร (Once Pro) ปริมาณ 850 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน พลังงานต่อการชง1ครั้ง 48 กรัม/ 204 kcal ราคา 885 บาท*
*ราคาประมาณการ 2.2 สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคตับ เป็นสูตรที่มีการปรับสัดส่วนของโปรตีนให้สูงมากขึ้นกว่าสูตรมาตรฐาน และมีการเติมกรดอะมิโนสายกิ่ง (Branch-chain amino acids; BCAAs) เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการโปรตีนผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
ตัวอย่าง สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคตับ เช่น อะมิโนเลแบน ออรัล (Aminoleban oral)
อะมิโนเลแบน ออรัล (Aminoleban oral) ปริมาณ 450 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยโรคตับ พลังงานต่อการชง1ครั้ง 50 กรัม/ 210 kcal ราคา 690 บาท*
*ราคาประมาณการ 2.3 สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไต สำหรับสูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไตจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ที่ยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต และกลุ่มที่สอง คือสำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้องรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต)
สูตรสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ที่ยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต จะเป็นสูตรที่มีการปรับลดโปรตีนให้ต่ำลงกว่าสูตรมาตรฐาน เพื่อลดการสร้างของเสียไนโตรเจนในเลือด ช่วยชะลอการเสื่อมลงของไต โดยปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานจากไขมัน หรือคาร์โบไฮเดรตให้สูงขึ้น และมีการจำกัดเกลือแร่ เช่น โซเดียม (Na) โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการฟอกไต เช่น วันซ์รีนอล (Once Renal) เป็นต้น
อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วย โรคตับ และ โรคไต วันซ์รีนอล (Once Renal) ปริมาณ 400 กรัม เหมาะสำหรับ สำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการฟอกไต พลังงานต่อการชง1ครั้ง 76 กรัม/ 360 kcal ราคา 340 บาท*
*ราคาประมาณการ สำหรับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้องรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต จะเป็นสูตรที่มีการปรับโปรตีนให้สูงขึ้นมากกว่าสูตรมาตรฐาน มีการจำกัดเกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ให้น้อยกว่าสูตรมาตรฐาน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตทางหน้าท้อง หรือการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ที่ต้องการโปรตีนสูง
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไต เช่น เนปโปร (Nepro), วันซ์ไดอะไลซ์ (Once Dialyze) เป็นต้น
วันวันซ์ไดอะไลซ์ (Once Dialyze) ปริมาณ 400 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไต พลังงานต่อการชง1ครั้ง 80 กรัม/ 370 kcal ราคา 490 บาท*
*ราคาประมาณการ
2.4 สูตรสำหรับเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน หรือสูตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นสูตรที่พัฒนาเสริมสารอาหารเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3), กลูตามีน (Glutamine), อาร์จินีน (Arginine) และไรโบนิวคลีโอไทด์ (Ribonucleotide) เป็นต้น และยังมีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าสูตรมาตรฐานทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันรุนแรง เช่น ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยแผลไฟไหม้ หรือผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่มีความต้องการโปรตีนสูงมากขึ้น ให้ได้รับสารอาหารและสารเสริมภูมิคุ้มกันเพียงพอ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน หรือสูตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่น โปรชัวร์ (Prosure), ออรัล อิมแพ็ค (Oral Impact), นีโอมูน (Neo-Mune), นิวทริเชีย ฟอร์ติแคร์ (Nutricia Forticare) เป็นต้น
ตัวอย่าง อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โปรชัวร์ (Prosure) ปริมาณ 220 มิลลิตร/1ขวด เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง พลังงานต่อ 1 ขวด 220 มิล/ 279 kcal ราคา 189 บาท*
*ราคาประมาณการ นีโอมูน (Neo-Mune) ปริมาณ 400 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง พลังงานต่อการชง1ครั้ง 60 กรัม/ 254 kcal ราคา 520 บาท*
*ราคาประมาณการ 3. อาหารทางการแพทย์สูตรที่ผ่านการย่อยมาบางส่วนหรือทั้งหมด (Semi-elemental Formula or Elemental Formula) เป็นสูตรอาหารที่มีสัดส่วนสารอาหารหลักเหมือนกับสูตรครบถ้วน แต่มีการนำไปผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการย่อยการดูดซึมสารอาหาร เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดลำไส้เล็ก ผู้ป่วยลำไส้อักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่ผ่าตัดตับอ่อนออกทั้งหมด ผู้ป่วยลำไส้สั้น ผู้ป่วยวิกฤต เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรที่ผ่านการย่อยมาบางส่วน เช่น เป็ปตาเม็น (Peptamen) เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรที่ผ่านการย่อยมาบางส่วน เป็ปตาเม็น (Peptamen) ปริมาณ 400 กรัม เหมาะสำหรับ ผู้ป่วยที่มีปัญหาการย่อยการดูดซึมสารอาหาร พลังงานต่อการชง1ครั้ง 55 กรัม/ 256 kcal ราคา 950 บาท*
*ราคาประมาณการ 5 วิธี เลือก อาหารทางการแพทย์ อย่างไรให้เหมาะสม จะเห็นว่ามีอาหารทางการแพทย์หลากหลายผลิตภัณฑ์ให้ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปเลือกใช้ บางครั้งผู้ป่วยอาจจะเลือกจากยี่ห้อหรือแบรนด์ที่เราคุ้ยเคยรู้จัก แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับอาการของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีแนวทางในการเลือกอาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสม อย่างง่าย ๆ ได้ดังนี้
1. ความสามารถในการย่อยและดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร
หากผู้ป่วยมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดลำไส้เล็กจนมีภาวะลำไส้สั้น ผู้ป่วยลำไส้อักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่ผ่าตัดตับอ่อนออกทั้งหมด ผู้ป่วยวิกฤต กลุ่มเหล่านี้จะมีความสามารถในการย่อยหรือดูดซึมสารอาหารลดลง จึงควรพิจารณาในการเลือกสูตรที่ผ่านการย่อยมาบางส่วนหรือทั้งหมด แต่หากทางเดินอาหารสามารถทำงานได้ตามปกติ ไม่มีอาหารท้องเสียรุนแรง สามารถเลือกใช้สูตรครบถ้วนหรือสูตรมาตรฐานในการเริ่มต้นได้
2. ข้อบ่งชี้การเลือกสารอาหารตามโรคประจำตัว สารอาหารจำเพาะแต่ละรายโรค
หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่เข้าได้กับข้อบ่งชี้ในอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรคต่าง ๆ สามารถพิจารณาใช้สูตรเฉพาะโรคได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานเหมาะกับสูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าสูตรครบถ้วน ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกไตเหมาะกับสูตรที่โปรตีนสูงและจำกัดเกลือแร่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งหากได้รับสูตรที่มีโปรตีนสูงและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะได้รับประโยชน์จากสารอาหารเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้หากไม่มีอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว สามารถเริ่มใช้สูตรครบถ้วนหรือสูตรมาตรฐานก่อนได้ แต่ควรมีการติดตามสภาวะโภชนาการอย่างใกล้ชิด
3. อาหารที่แพ้ หรือข้อยกเว้นในการรับสารอาหารบางชนิด
อาหารทางการแพทย์ของบริษัทต่าง ๆ มักมีส่วนผสมของแหล่งอาหารที่แตกต่างกันไป เช่น บางบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโปรตีนเวย์ที่สกัดมาจากนม บางบริษัทใช้โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้โปรตีนก็สามารถหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปได้ หรืออาหารทางการแพทย์สูตรเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันจะมีส่วนผสมของไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลา จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ปลาทะเล เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถศึกษาข้อมูลจากฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ซึ่งจะมีระบุว่าอาหารทางการแพทย์สูตรต่าง ๆ มีส่วนประกอบของอาหารจากแหล่งใดบ้าง ผู้ป่วยจึงสามารถเลือกหลีกเลี่ยงแหล่งของอาหารที่มีอาการแพ้ได้
‘ ข้อสังเกตสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ดื่มนม เพราะมีอาการท้องเสีย ซึ่งหลายครั้งมักจะเข้าใจว่า “แพ้นม”
อาการดื่มนมแล้วท้องเสีย เกิดจากการที่ร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส เพื่อทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม จึงไม่ใช่อาการแพ้นมอย่างที่เข้าใจ ทั้งนี้อาการแพ้โปรตีนในนมจะมีอาการเหมือนแพ้อาหารซึ่งมักพบในเด็ก เช่น ดื่มนมแล้วมีผื่นแดง คันบริเวณผิวหนัง ซึ่งแตกต่างจากอาการย่อยแลคโตสไม่ได้ ทั้งนี้อาหารทางการแพทย์ทุกสูตรเป็นสูตรที่ไม่มีแลคโตส (lactose-free) ดังนั้นผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องเสียเพราะย่อยแลคโตสไม่ได้ สามารถรับประทานอาหารทางการแพทย์ได้ทุกยี่ห้อ
4. ช่องทางในการรับสารอาหาร ปริมาณและความเข้มข้นของอาหารทางการแพทย์
ส่วนต่อมาในการพิจารณาเลือกสูตรอาหารทางการแพทย์คือ ผู้ป่วยรับประทานอาหารเองทางปาก หรือให้อาหารทางสายให้อาหาร หากผู้ป่วยรับอาหารทางสายให้อาหาร เรื่องของรสชาติอาหารจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสูตรอาหารเท่าไหร่ ในประเด็นของปริมาณและความเข้มข้นของอาหารทางการแพทย์สามารถใช้ตามแพทย์สั่ง หรือตามคำแนะนำของนักกำหนดอาหารได้ ทั้งนี้บนฉลากบรรจุภัณฑ์จะระบุความเข้มข้นมาตรฐานสำหรับการเตรียม ไม่แนะนำให้เริ่มที่ความเข้มข้นสูงตั้งแต่แรกเริ่มที่รับประทาน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสียจากความเข้มข้นในอาหารที่สูงได้ ควรเริ่มที่ความเข้มข้นมาตรฐานในช่วงแรก แล้วจึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มความเข้มข้น พร้อมกับติดตามอาการทางทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเสีย เป็นต้น หากต้องการปรับสูตรอาหารทางการแพทย์สามารถปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมได้
5. ความชอบ ความพึงพอใจในรสชาติ
เป็นอีกประเด็นที่ควรพิจารณาในการเลือกสูตรอาหารทางการแพทย์ หากผู้ป่วยรับประทานอาหารเองทางปาก เพราะความชอบ ความพึงพอใจในรสชาติมีผลอย่างมากต่อการเลือกรับประทานอาหาร แม้ว่าจะเลือกสูตรที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย แต่หากไม่ถูกปากถูกใจในอาหารสูตรนั้นๆ ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอได้ จึงควรเลือกสูตรที่มีรสชาติหรือกลิ่นตามที่ผู้ป่วยต้องการและชื่นชอบ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและความสุขในการรับประทานอาหารทางการแพทย์ประกอบกัน
อาหารทางการแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูภาวะโภชนาการ สำหรับผู้ที่ขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวน้อยหรือมีน้ำหนักตัวลดลง รวมถึงผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่เคี้ยวกลืนลำบาก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง การช่วยให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการขาดสารอาหารและมีคุณภาพชีวิตที่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม หากมีโรคประจำตัว โรคร่วมซับซ้อน มีความสงสัยต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในด้านการเลือกสูตรอาหารทางการแพทย์อย่างถูกต้องเหมาะสม ให้ได้สารอาหารครบถ้วนเพียงพอ สามารถปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารวิชาชีพ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม
สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร
ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี
โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?
พร้อมรับคำปรึกษาจาก
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ
ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร