fbpx

อาหารโรคไต กินอย่างไรเมื่อ (ไต) ถามหา

อาหารโรคไต มีข้อจำกัดด้านสารอาหารหลายชนิด อาจสร้างความสับสนและความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติ จนไม่กล้ารับประทานอาหาร ทำให้เบื่ออาหารและนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้น การปรับความเข้าใจเรื่องการรับประทาน อาหารโรคไต จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีความสุขในการรับประทานอาหารและมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นได้

เช็คระยะ(ไต) ก่อน Start

โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 2 ระยะหลัก คือระยะก่อนฟอกไต และระยะหลังฟอกไต โดยระยะก่อนฟอกไตจะแบ่งเป็น 5 ระยะย่อย

การจัดระยะโรคไตเรื้อรังในระยะก่อนฟอกไต
ตารางที่ 1 การจัดระยะโรคไตเรื้อรังในระยะก่อนฟอกไต1,2

*ค่า eGFR สามารถบอกได้ถึงความสามารถในการกรองของเสียของไต เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง ไตทำงานได้น้อยลง ค่านี้ก็จะลดลงเช่นกัน

อาหารโรคไต ระยะไหน ควรกินอย่างไรดี

การรับประทาน อาหารโรคไต แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ การคุมอาหารโรคไตในระยะก่อนฟอกไตเพื่อชะลอความเสื่อมของโรคไต และการคุมอาหารโรคไตในระยะหลังฟอกไตเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่การคุมอาหารใน 2 ระยะนี้ต่างมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันภาวะขาดสารอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง3

I. ระยะก่อนฟอกไต อาหารโรคไตเพื่อชะลอความเสื่อมของไต

ในระยะนี้การคุมอาหารที่เหมาะสมต่อระยะของโรคไตเรื้อรังสามารถชะลอความเสี่อมไตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น4,5 โดยแบ่งกลุ่มอาหารที่ต้องดูแลเป็น 3 หัวข้อใหญ่

โปรตีน

     ปริมาณโปรตีนที่แนะนำ ในโรคไตเสื่อมระยะที่ 1, 2, 3a ควรรับประทานโปรตีนไม่เกิน 1.3 กรัม/น้ำหนักตัวอุดมคติ (กก.)/วัน6,7 และ ระยะที่ 3b, 4, 5 ควรรับประทานโปรตีน 0.6 – 0.8 กรัม/น้ำหนักตัวอุดมคติ (กก.)/วัน โดยสามารถคำนวณน้ำหนักในอุดมคติได้จาก7

เพศชาย = ความสูง (ซม.) – 100

เพศหญิง = ความสูง (ซม.) – 110

แหล่งโปรตีนที่เหมาะสม ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันติดหนัง เช่น หมู ไก่ ปลา ไข่ขาว เนื้อกุ้ง โดยเนื้อสัตว์สุก 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัมของเนื้อสัตว์สุก) หรือ ไข่ขาว 1 ฟอง ให้โปรตีน 7 กรัม นอกจากนี้ยังสามารถพบโปรตีนในแหล่งอาหารอื่น ได้แก่ นม ข้าวแป้ง ถั่วและเต้าหู้ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โปรตีน ที่นี่)

แหล่งโปรตีนที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป ปลาเค็ม ไข่เค็ม ไส้กรอก กุนเชียง เบค่อน เป็นต้น เนื่องจากมีไขมันและโซเดียมอยู่มาก อาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้

แร่ธาตุ

            แร่ธาตุที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้แก่ โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส

1.โซเดียม ควรจำกัดปริมาณโซเดียมให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4 ช้อนชา ปัจจุบันมีเครื่องปรุงที่ลดโซเดียมลงจากสูตรปกติ แต่ก่อนซื้อควรอ่านฉลากโภชนาการให้ชัดเจนว่า “มีการเติมโพแทสเซียมทดแทนหรือไม่?” เหตุที่ต้องมีการควบคุมโซเดียมเพื่อควบคุมความดันโลหิตและลดอาการบวมน้ำ แต่การจำกัดโซเดียมมากจนเกินไปก็อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

แหล่งโซเดียมในอาหาร เครื่องปรุงต่างๆ เนื้อสัตว์แปรรูป ผักหรือผลไม้ดอง ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ

2. โพแทสเซียม หากตรวจพบว่ามีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ สามารถลดโพแทสเซียมในผักได้จากการนำผักไปต้มน้ำทิ้งก่อนน้ำมาประกอบอาหาร และเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำแทน รวมถึงเลือกใช้เครื่องปรุงลดโซเดียมที่ไม่ได้เติมโพแทสเซียม เนื่องจากระดับโพแทสเซียมในเลือดที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจได้

ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสำหรับผู้ป่วยโรค ไต
ตารางที่ 2 ชนิดผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสำหรับผู้ป่วยโรค ไต

3. ฟอสฟอรัส กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3b, 4, 5 ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เนื่องจากผู้ป่วยในระยะนี้มีโอกาสที่ฟอสฟอรัสในเลือดสูงโดยไม่รู้ตัวได้มาก ซึ่งเมื่อฟอสฟอรัสสูงในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนในอนาคตได้2

แหล่งของฟอสฟอรัส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท9 คือ

  • ฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในธรรมชาติ ร่างกายสามารถดูดซึมได้ 40 – 60%

พบใน ข้าวแป้งไม่ขัดสี ถั่ว เต้าหู้ ไข่แดง นม เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์และปลาที่รับประทานทั้งก้าง

แหล่งฟอสฟอรัส ตามธรรมชาติ
แหล่งฟอสฟอรัส ตามธรรมชาติ

  • ฟอสฟอรัสที่เป็นสารสังเคราะห์  ร่างกายสามารถดูดซึมได้ 90 – 100%

พบใน น้ำอัดลมสีเข้ม อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ที่มีผงฟูหรือยีสต์

 แหล่งฟอสฟอรัส สังเคราะห์
แหล่งฟอสฟอรัส สังเคราะห์

พลังงานและสารอาหารอื่นๆ

1. พลังงานที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะก่อนฟอกไต
– อายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงาน 35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน
– อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับพลังงาน 30 – 35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเดิม และกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในแต่ละวัน7

2. เลือกไขมันที่ดี เลือกรับประทานปลาหลากหลาย เลือกใช้น้ำมันพืชเป็นหลัก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า เลี่ยง การใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู กะทิและเนย 

3. วิตามิน ไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินซีและวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี เค) มาเสริมเอง โดยที่ไม่ได้มีภาวะขาดวิตามินอยู่เดิม แต่แพทย์อาจพิจารณาเสริมวิตามินดีให้ในกรณีที่เจาะเลือดแล้วพบภาวะขาดวิตามินดีชัดเจน

II. ระยะหลังฟอกไต อาหารโรคไตเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

การบำบัดทดแทนไต

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการรักษาด้วยการฟอกไต เป็นกระบวนการรักษาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ยาและการคุมอาหารไม่สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ แบ่งได้ 2 วิธี

การบำบัดด้วยเครื่องไตเทียม

 ผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม จะต้องได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาจสูญเสียสารอาหารไปกับน้ำยาที่ใช้ในการฟอกไตได้

  • พลังงาน ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงานอย่างน้อย 35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน และ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับพลังงาน 30 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเดิม และกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในแต่ละวัน
  • โปรตีน ควรรับประทานโปรตีน 1.1 – 1.4 กรัม/น้ำหนักตัวอุดมคติ (กก.)/วัน เนื่องจากมีการสูญเสียโปรตีนไปกับการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม
  • น้ำ แนะนำให้จำกัดปริมาณน้ำในเครื่องดื่ม และปริมาณน้ำอาหารรวมแล้วไม่เกิน 500 – 800 มิลลิลิตรต่อวัน หรือตามพิจารณาแพทย์
  • วิตามิน ไม่แนะนำให้เสริมวิตามินเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง
  • แร่ธาตุ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม แนะนำให้คุมปริมาณตามเดิมเหมือนก่อนระยะฟอกไต

การล้างไตทางช่องท้อง

ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง มีความต้องการพลังงานและโปรตีนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภาวะของโรค

  • พลังงาน ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ควรได้รับพลังงานอย่างน้อย 35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน และ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับพลังงาน 30 กิโลแคลอรี/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน ในกรณีที่มีการอักเสบของผนังเยื่อบุช่องท้องอาจมีความต้องการพลังงานสูงขึ้น และต้องหักลบพลังงานที่ร่างกายรับจากน้ำยาล้างไตสูตรมาตรฐาน ที่ให้พลังงาน 200 – 750 กิโลแคลอรีต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • โปรตีน ควรรับประทานโปรตีน 1.2 – 1.3 กรัม/น้ำหนักตัวอุดมคติ (กก.)/วัน ในกรณีที่มีการอักเสบของผนังเยื่อบุช่องท้องอาจมีความต้องการโปรตีนสูงขึ้นเป็น 1.5 – 1.7 กรัม/น้ำหนักตัวอุดมคติ (กก.)/วัน
  • น้ำ หากไม่มีภาวะบวมน้ำ แนะนำให้ดื่มน้ำ 30 – 35 มิลลิลิตร/น้ำหนักอุดมคติ (กก.)/วัน โดยให้ดูปริมาณปัสสาวะ น้ำที่ดึงออกได้ตอนล้างไตและการบวมน้ำของผู้ป่วยร่วมกัน หากมีการบวมน้ำมากขึ้น สังเกตได้จากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้ลดอาหารที่มีโซเดียมสูงและลดปริมาณน้ำที่ดื่มและติดตามน้ำหนักตัววันต่อวัน
  • วิตามิน ไม่แนะนำให้เสริมวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินดี วิตามินอีและวินตามินเค แต่ผู้ป่วยสามารถเสริมวิตามินซี 100 มิลลิกรัมต่อวันได้หากรับประทานจากอาหารไม่เพียงพอ
  • แร่ธาตุ ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องต้องรับประทานโซเดียมให้น้อยกว่า 2000 มิลลิกรัม เนื่องจากอาจส่งผลต่อภาวะบวมน้ำ ในน้ำยาล้างไตทางช่องท้องไม่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมจึงอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโพแทสเซียมไปกับการล้างไตได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารตามระดับของโพแทสเซียมในเลือดเพื่อรักษาระดับของโพแทสเซียมในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

นอกจากการคุมอาหารจะมีความสำคัญกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การปรับพฤติกรรมสุขภาพในด้านอื่น ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการออกกำลังกาย หรือขยับตัวให้ได้มากกว่า 30 นาทีต่อวัน การรักษาระดับน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน และเลิกสูบบุหรี่ และลดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์4

อาหารโรคไต…ปรับแล้วติดตามอย่างไรดี

หลังจากที่ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว การติดตามผลก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการปรับพฤติกรรมต่อไป แนะนำให้ติดตามน้ำหนักตัว ผลเลือด เช่น ค่าของเสีย (BUN, Creatinine} Uric acid) อัตราการกรองของไต (eGFR) ระดับน้ำตาลในเลือด โดยควรเปรียบเทียบผลเลือดในแต่ละเดือนเพื่อให้เห็นแนวโน้มด้านสุขภาพ หากรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มีความเข้าใจยาก คุณสามารถใช้บริการให้คำปรึกษาทางโภชนาการกับ Eatwellconcept ได้ เพื่อให้พบกับแนวทางการปรับอาหารที่เหมาะสมกับคุณหรือคนที่คุณรัก

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง :

1. Kidney Disease Improving Global Outcomes (KDIGO) CKD Work Group. KDIGO 2012 clinical practice guideline for the evaluation and management of chronic kidney disease. Kidney Int 2013:1e150.

2. National Kidney Foundation. Nutrition and Chronic Kidney Disease (Stages 1–4) Are You Getting What You Need? Retrieved from https://www.kidney.org/sites/default/files/11-50-0114_docsnutrikidfail_stage1-4.pdf

3. Fiaccadori E, Sabatino A, Barazzoni R, Carrero JJ, Cupisti A, De Waele E, Jonckheer J, Singer P, Cuerda C. ESPEN guideline on clinical nutrition in hospitalized patients with acute or chronic kidney disease. Clin Nutr. 2021 Apr;40(4):1644-1668. doi: 10.1016/j.clnu.2021.01.028. Epub 2021 Feb 9. PMID: 33640205.

4. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney diseases. Manage Patients With Chronic Kidney Disease Retrieved from https://www.niddk.nih.gov/health-information/professionals/clinical-tools-patient-management/kidney-disease/identify-manage-patients/manage-ckd/slow-progression-reduce-complications

5. Campbell KL, Ash S, Bauer JD. The impact of nutrition intervention on quality of life in pre-dialysis chronic kidney disease patients. Clin Nutr. 2008 Aug;27(4):537-44. doi: 10.1016/j.clnu.2008.05.002. Epub 2008 Jun 26. PMID: 18584924.

6. Ikizler TA, Burrowes JD, Byham-Gray LD, Campbell KL, Carrero JJ, Chan W, Fouque D, Friedman AN, Ghaddar S, Goldstein-Fuchs DJ, Kaysen GA, Kopple JD, Teta D, Yee-Moon Wang A, Cuppari L. KDOQI Clinical Practice Guideline for Nutrition in CKD: 2020 Update. Am J Kidney Dis. 2020 Sep;76(3 Suppl 1):S1-S107. doi: 10.1053/j.ajkd.2020.05.006. Erratum in: Am J Kidney Dis. 2021 Feb;77(2):308. PMID: 32829751.

7. คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561 วารสารโภชนบำบัด ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2563 โดย Thai Journal of parenteral and enteral nutrition

8. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-for-kidney

9. https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1008

ส่งข้อความถึงเรา