fbpx

แพ้ไข่ กินอะไรได้บ้าง? 

ไข่ (Egg) เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดี เพราะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน สามารถหากินได้ง่าย มีราคาถูก และนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่เพราะร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนกินไข่เข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้ โดยอาจทำให้เกิดลมพิษ มีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร  ซึ่งอาการเหล่านี้เราเรียกว่า การ แพ้ไข่ (Egg Allergy) 

สาเหตุของอาการแพ้ไข่ 

อาการแพ้ไข่คือโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าใจผิดว่าโปรตีนในไข่(Antigen)เป็นสิ่งที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย จนทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮิสตามีนและสารเคมีอื่นๆ(Antibody) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออกมา โดยทั้งไข่แดงและไข่ขาวมีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บางคนอาจจะแพ้เฉพาะไข่ขาวหรือไข่แดง ขณะที่บางคนแพ้ทั้งไข่แดงและไข่ขาว 

อาการ แพ้ไข่ 

อาการแพ้ไข่อาจแสดงทันทีหลังกินไข่หรืออาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ หรืออาจจะนานหลายชั่วโมง หรือหลายวัน ซึ่งความรุนแรงและอาการแสดงออกมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยผู้ที่แพ้ไข่อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • อาการทางผิวหนัง เช่น อาการบวม ลมพิษ ผื่นแดง หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น 
  • ระบบหายใจ เช่น น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก ไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น 
  • ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น 
  • น้ำตาไหล คันตา ตาบวม ปากบวม เป็นต้น 
  • เวียนศีรษะ  
  • หัวใจเต้นเร็ว 
อาการแพ้อาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของอาการ แพ้ไข่ 

ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของอาการแพ้ไข่คือ ปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง(Anaphylaxis) ซึ่งมีอาการที่รุนแรงเป็นสัญญาณบ่งบอกเช่น หายใจลำบาก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างมาก จนนำไปสู่ภาวะช็อกหรือหมดสติ และอาจมีอันตรายถึงชีวิตจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน 

นอกจากนี้ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ไข่ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพ้อื่น ๆ เช่น แพ้นม ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ขนสัตว์ ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ฯลฯ  

วิธีรักษาและป้องกันอาการแพ้ไข่ 

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ 
  • อ่านฉลากโภชนาการให้เป็นนิสัย ในตรงส่วนคำว่า ส่วนประกอบสำคัญ เนื่องจากว่าอาหารบางชนิดมีไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง พิซซ่า ขนมเบเกอร์รี่ (เค้ก โดนัท วาฟเฟิล แพนเค้ก) คัสตาร์ด พุดดิ้ง เป็นต้น
  • ถ้าหากกินอาหารนอกบ้านควรใส่ใจส่วนประกอบของอาหาร เนื่องจากอาหารบางชนิดมีไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวผัด สปาเก็ตตี้คาโบนาร่า ผัดผงกระหรี่ ขนมปัง เบเกอรี่ หรือ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมัก อาจมีไข่เป็นส่วนประกอบ  ฯลฯ หากไม่มั่นใจควรสอบถามทางร้านว่าอาหารมีไข่เป็นส่วนประกอบหรือไม่ 
  • ปรุงอาหารรับประทานทานเอง โดยดัดแปลงสูตรอาหารที่มีไข่ ให้ลองตัดไข่เป็นองค์ประกอบทิ้งไป  
  • พกยาแก้แพ้ติดตัวเสมอ 
    • การใช้ยาในกลุ่มต้านฮิสตามีน(Anti-Histamine) ใช้บรรเทาอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ทันทีหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ ซึ่งควรที่จะใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 
    • การฉีดยาอิพิเนฟริน(Epinephrine) ในกรณีที่เกิดการแพ้อย่างเฉียบพลันรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต  

อาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบที่เราควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ 

  • ขนมเบเกอร์รี่ : ขนมปัง, แพนเค้ก, เค้ก, พิซซ่า, โดนัท, เมอแรงค์, วาฟเฟิล ฯลฯ 
  • มายองเนส, น้ำสลัด ฯลฯ 
  • คัสตาร์ด, พุดดิ้ง, มาร์ชเมลโล่ ฯลฯ 
  • บะหมี่เหลือง, เส้นสปาเก็ตตี้, มะกะโรนี, ราวิโอรี่, พาสต้า, บะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ 
  • คาโบนาร่า, ไส้กรอก, แฮมเบอร์เกอร์, ทอดมันกุ้ง ฯลฯ 
  • ขนมไทย เช่น ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, สังขยา ฯลฯ 

อาหารทดแทนไข่ 

ไข่ 1 ฟอง มีโปรตีน 14 กรัม ไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี่ หรือเรียกว่าปริมาณอาหาร 1 ส่วน ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในหมวดเนื้อสัตว์ ชนิดที่ 3 ‘เนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง’ ดังนั้นเราจึงสามารถเลือกรับประทานอาหารจากหมวดเนื้อสัตว์นี้ทดแทนไข่ เนื่องจากมีสารอาหารและพลังงานที่เท่ากัน 

ตารางอาหารแลกเปลี่ยนหมวดเนื้อสัตว์ ชนิดที่ 3 เนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง 

เนื้อสัตว์ ปริมาณอาหาร 1 ส่วน 
เนื้อแดง (หมู, วัว) 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) 
เนื้อเป็ด 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) 
เต้าหู้แข็ง ½ ชิ้น (60 กรัม) 
เต้าหู้อ่อน 2/3 หลอด (180 กรัม) 
นมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) 

เด็กมีโอกาสแพ้อาหารประเภทไข่มากกว่าผู้ใหญ่ ทว่าเมื่อเติบโตขึ้นการแพ้ไข่อาจจะลดความรุนแรงหรือหายได้ ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง และเพื่อความมั่นใจควรปรึกษาแพทย์ เมื่อหายดีแล้วจึงค่อยกลับมารับประทานไข่อีกครั้ง แต่ควรเริ่มจากการรับประทานในปริมาณน้อย และค่อยๆปรับปริมาณให้มากขึ้น  

ถ้าหากร่างกายของเราแพ้ไข่ก็ควรต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ แต่อาหารบางชนิดมีไข่เป็นส่วนประกอบแอบแฝงทำให้เราไม่อาจจะทราบได้ ฉะนั้นเราควรที่จะใส่ใจอยู่เสมอ อ่านฉลากโภชนาการให้เป็นนิสัย สอบถามส่วนประกอบจากร้านอาหาร และพกยาแก้แพ้ติดตัวเอาไว้เสมอ ถึงแม้ว่าไข่จะเป็นโปรตีนคุณภาพดีแต่เราก็สามารถเลือกรับประทานอาหารชนิดอื่นที่ให้คุณค่าอาหารพอๆกันมาทดแทนได้ 

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง 

ส่งข้อความถึงเรา