fbpx

แพ้นม (Milk Allergy) หรือ แค่ย่อยแลคโตสไม่ได้ 

การแพ้นม คืออะไร 

การแพ้นม เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไปต่อโปรตีนในนม หากคนที่ แพ้นม ดื่มนมหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของนมเข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่แพ้นมจะคิดว่าโปรตีนนมเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจึงตอบสนองด้วยการหลั่งสารเคมี อย่างเช่น ฮีสตามีน ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ตามมา การแพ้นมวัว่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กอย่างไรก็ตามการแพ้นมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นก็พบได้เช่นกัน เช่น นมแพะ นมแกะ นมม้า เป็นต้น 

อาการ แพ้นม 

อาการแพ้นม นั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แบ่งออกเป็น  

1. อาการแพ้เฉียบพลัน เกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดี้ ชนิด IgE ขึ้นมาหลังกินโปรตีนนม อาการจะเกิดขึ้นทันทีภายในไม่กี่นาทีถึงสองชั่วโมง เช่น ผื่นลมพิษ คัน ปากบวม ลิ้นบวม หายใจไม่ออก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจเกิดอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ 

2. อาการแพ้ไม่เฉียบพลัน เป็นการตอบสนองแบบ non-IgE อาการจะเกิดขึ้นช้าหลายชั่วโมง หรือหลายวันหลังได้รับโปรตีนนม อาการไม่ชัดเจนและระบุได้ยาก การแพ้ชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจส่งผลรบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูกหรือถ่ายเหลว ผื่นคัน ผื่นแดง ปวดเมื่อยตัวหรือปวดหัว เป็นต้น 

โปรตีนในนมสาเหตุของการ แพ้นม

การแพ้นม อาจเกิดจากการแพ้โปรตีนตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวก็ได้ โดยโปรตีนในนมมี 2 ประเภท ได้แก่ 

1. เคซีน (Casein) เป็นส่วนที่ตกตะกอนออกมาจากน้ำนม ในการผลิตเนยแข็ง หรือโยเกิร์ต ในน้ำนมมีเคซีนประมาณ 80% ของโปรตีนนมทั้งหมด 

2. เวย์ (Whey) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของโปรตีนในนม เป็นผลพลอยได้ที่มีลักษณะเหลวใสเมื่อตกตะกอนแยกเคซีนออกไป 

การย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose intolerance)  

Lactose free -EWC
Lactose free

ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง ไม่จัดเป็นการแพ้นม เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แต่เกิดจากการที่ร่างกายมีเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตส ที่เป็นองค์ประกอบหลักในนมได้หมด ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกินหรือดื่มอาหารที่มีแลคโตส โดยผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลและโตสบกพร่องสามารถเลือกรับประทานนมที่ระบุว่า “ปราศจากแลคโตส” หรือ “lactose free” ได้ 

จะรู้ได้อย่างไรว่า แพ้นม 

ปัจจุบันมีการตรวจการแพ้อาหารมากมายที่จะช่วยวินิจฉัย โดยวิธีที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับอาการที่แสดงออกมา ได้แก่ 

1. การตรวจเลือด (Blood test) เพื่อหาแอนติบอดี้ที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด 

2. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) โดยการนำเข็มที่มีนมไปสะกิดที่ผิวหนัง หากขึ้นผื่นแดงก็แสดงว่ามีการแพ้นม 

3. การทดลองงดกินนม (Oral food challenge) เป็นการทดลองงดกินนมและอาหารที่มีส่วนผสมของนม หากอาการต่างๆ ดีขึ้นหลังงดอาหารเหล่านี้ อาจลองกลับมาเริ่มกินอีกครั้งเพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจแพ้นมวัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม 

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีนม 

หากคุณแพ้นม คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่กินนม ผลิตภัณฑ์จากนม หรืออาหารที่มีนมหรือโปรตีนนมเป็นส่วนประกอบ โดยตัวอย่างอาหารที่มีนมและส่วนประกอบของนม ได้แก่ 

  • นม รวมถึง นมแพะ นมแกะ นมม้า นมข้นหวาน นมข้นจืด 
นมข้น -EWC
  • เนย มาการีน เนยแข็ง ชีส โยเกิร์ต คีเฟอร์ 
Cheese-EWC
  • ครีม วิปปิ้งครีม ครีมเทียม 
Whipped Cream
 -EWC
  • ไอศกรีม ช็อคโกแลต คัสตาร์ด พุดดิ้ง 
ice-cream-EWC
  • ขนมอบต่างๆ เช่น ขนมปัง เค้ก แครกเกอร์ 
bakerry-ewc
  • โปรตีนผง เวย์ผง 
whay-EWC
  • เนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก โคลด์คัท 
ham-ewc

อย่างไรก็ตาม นมและโปรตีนนมอาจซ่อนอยู่ในที่ที่ขาดไม่ถึง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการอ่านฉลากอาหาร หรือสอบถามส่วนประกอบจากผู้ขายให้แน่ใจก่อนรับประทาน โดยผู้ผลิตอาจเขียนกำกับว่า ในข้อมูลผู้แพ้อาหารว่า “มีส่วนประกอบของนม” หรือ “มีเคซีน (โปรตีนนม)” เป็นต้น แม้ผลิตภัณฑ์นั้นจะเขียนว่า “non-dairy” ก็อาจปนเปื้อนโปรตีนนมได้เช่นกัน 

กินนมไม่ได้ เลือกกินอะไรแทนได้บ้าง   

ปัจจุบันตามท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ทดแทนนมวัว (nondairy milk alternatives) ให้เลือกซื้อมากมายหลายชนิด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้้บริโภค บางผลิตภัณฑ์มีการแต่งเติมสารอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับนมวัวมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคยังคงได้รับสารอาหารเทียบเท่ากับการกินนมวัว โดยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมวัวตามท้องตลาดมีดังต่อไปนี้ 

  • นมจากพืช (Plant-based milk) – สามารถผลิตได้จากหลายแหล่ง เช่น ถั่วเหลือง อัลมอนต์ มะพร้าว โอ๊ต และข้าว เป็นต้น โดยบางผลิตภัณฑ์มีสารสกัดโปรตีนจากถั่ว แคลเซียมและวิตามินดีเพื่อให้มีความใกล้เคียงกับนมวัว ขณะที่บางผลิตภัณฑ์อาจไม่มีการเสริมสารอาหารใดๆ ดังนั้นผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการได้โดยการอ่านฉลากอาหาร 
  • โยเกิร์ทดแทน – โยเกิร์ตทำขึ้นโดยการเติมแบคทีเรียที่มีชีวิตลงในนมวัวเพื่อให้เกิดการหมัก เช่นเดียวกับนมจากพืช โยเกิร์ตทดแทนสามารถผลิตได้โดยการใช้พืช อย่างเช่นถั่วต่างๆ เช่น โยเกิร์ตอัลมอนต์ โยเกิร์์ตถั่วเหลือง โยเกิร์ตมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งการบริโภคโยเกิร์ตจากพืชจะยังคงได้รับโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีเช่นเดียวกัน 
  • ชีสจากพืช – มักถูกผลิตจากถั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดีย อัลมอนต์ เป็นต้น อาจมีการเติมน้ำมันพืช แป้ง หรือโปรตีนสกัดผสมลงไปเพื่อสร้างรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เหมือนกันชีสแบบปกติ รวมถึงมีเติมการนิวทริชั่นแนล ยีสต์์ ซึ่งข้อดีคือเป็นแหล่งของวิตามินบี12 
  • เนยทางเลือก – โดยส่วนใหญ่แล้วเนยทางเลือกมักผลิตจากน้ำมันพืชและกะทิ อาจพบเนยอัลมอนต์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และเมล็ดดอกทานตะวัน ซึ่งเนยทางเลือกหลายชนิดมีคุณสมบัติคล้ายเนยที่ผลิตจากนมวัว แต่บางชนิดอาจมีโปรตีนและคารโบไฮเดรตเพิ่มขึ้นจากปกติ 
  • ครีม – คล้ายกับชีสและโยเกิร์ตที่ปราศจากนม ครีมจากพืชมักทำจากกะทิ ถั่วเหลือง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วต่างๆ ผสมกับน้ำมันพืช โดยทั่วไปครีมที่ไม่ได้ผลิตจากนมวัวจะมีพลังงานและไขมันต่ำกว่า แต่ก็มักมีโปรตีนต่ำเช่นเดียวครีมจากนมทั่วไป 
  • ไอศกรีม – นมวัวถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตไอศกรีม ผู้ที่รับประทานนมวัวไม่ได้ อาจเลือกรับประทานไอศกรีมที่ผสมนมจากพิช เช่น ไอศกรีมกะทิหรือไอศกรีมจากนมถั่วเหลือง ไอศกรีมซอร์เบต์ (Sorbet) ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีส่วนผสมหลักจากผลไม้และน้ำตาล ซึ่งข้อดีของไอศกรีมเหล่านี้มักมีพลังงานและไขมันต่ำกว่าไอศกรีมที่มีส่วนผสมของนมวัว 

เห็นได้ว่ามีทางเลือกมายมายให้กับผู้ที่ไม่บริโภคนมวัว เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด ควรอ่านฉลากโภชนาการเพื่อดูว่ามีส่วนผสมและสารอาหารใดบ้างในผลิตภัณฑ์เสมอ 

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง 

1. The different types of cow’s milk allergy: CMA. What you could do if you think your baby could be allergic to cow’s milk. (n.d.). Retrieved March 6, 2023, from https://www.isitcowsmilkallergy.co.uk/about-cma/what-is-cma/types-of-cows-milk-allergy/  

2. Milk allergy: Causes, symptoms, diagnosis & treatment. Cleveland Clinic. (2022, November 16). Retrieved March 6, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/11315-milk-allergy 

3. สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2557). เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ. (ระบบออนไลน์). สืบค้นจาก  https://www.kkpho.go.th/i2021/index.php/component/attachments/download/6562 (6 มีนาคม 2566). 

4. Walsh, J., Meyer, R., Shah, N., Quekett, J., & Fox, A. T. (2016). Differentiating milk allergy (IGE and non-ige mediated) from lactose intolerance: Understanding the underlying mechanisms and presentations. British Journal of General Practice, 66(649). https://doi.org/10.3399/bjgp16x686521 

ส่งข้อความถึงเรา