fbpx

ทำความเข้าใจ IBS เมื่ออาหารกลายเป็นศัตรูของลำไส้

คุณเคยมีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียสลับกับท้องผูกแบบไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนไหมคะ ถ้าใช่ คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับโรค IBS ก็ได้ค่ะ

IBS (Irritable Bowel Syndrome) หรือ “โรคลำไส้แปรปรวน” เป็นภาวะที่ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก หรือมีการสลับกันระหว่างท้องเสียและท้องผูก อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำ จนทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสร้างความรำคาญต่อการใช้ชีวิต

สาเหตุของIBSยังไม่แน่ชัด แต่มักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ การแพ้อาหารบางชนิด หรือแม้แต่ความเครียดและอารมณ์ อย่างไรก็ตาม อาหารก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอาการของIBSได้ ดังนั้นการเข้าใจอาหารที่กระตุ้นและปรับเปลี่ยนอาหารที่กินก็ช่วยให้เราสามารถควบคุมหรือลดความเสี่ยงต่อการกระตุ้นอาการของIBSได้

อะไรบ้างที่กระตุ้นอาการ IBS

ไม่ใช่ทุกคนที่มี IBS จะมีอาการเดียวกัน บางคนอาจจะท้องผูก บางคนท้องเสีย หรือบางคนมีทั้งสองแบบสลับกัน แต่อาหารที่กินก็เป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่กระตุ้นอาการเหล่านี้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่คุณควรระวัง

1.อาหารที่มี FODMAP สูง
FODMAPs (Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides, and Polyols) คือ กลุ่มของคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยได้ยาก ซึ่งสามารถทำให้เกิดการหมัก และเกิดแก๊สในลำไส้และทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเสีย และปวดท้องได้

IBS-อาหารที่มี-FODMAP-สูง-EWC
อาหาร FODMAPS สูง

ตัวอย่างอาหารที่มี FODMAP สูง เช่น

  • ผัก  :  กระเทียม หัวหอม หอมแดง  ต้นหอม ต้นหอมญี่ปุ่น ต้นกระเทียม กะหล่ำดอก เห็ด เซเลอรี่ ผักดอง  พืชประเภทหัว เช่น บีทรูท เผือก
  • ผลไม้ : แอปเปิล มะม่วงสุก กล้วยสุก แตงโม ลิ้นจี่ พีช ฝรั่ง(ไม่สุก) สาลี่ พรุน ลูกเกด
  • ถั่วต่างๆ : ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา
  • ถั่วเปลือกแข็ง : อัลมอนด์ พิสตาชิโอ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม : โยเกิร์ต ชีส ricotta และไอศกรีมที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
  • เครื่องดื่ม : เครื่องดื่มหวานทุกชนิด น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และน้ำผลไม้
  • ขนมหวานทุกชนิดและหมากฝรั่งที่มีสารให้ความหวานประเภท polyols (เช่น sorbitol, mannitol, Xylitol)
  • High fructose : corn syrup น้ำเชื่อมข้าวโพด (HFCS)
  • อาหารที่มีกลูเตน : ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เช่น ขนมปัง เบเกอรี่ พาสต้า บิสกิต แครกเกอร์ ซีเรียล ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวไรย์  

เนื่องจากในคนที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว อาหารเหล่านี้อาจทำให้อาการของ IBS แย่ลงได้

2.ไขมันสูงเกินไป ไม่ดีต่อIBS
อาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักขึ้นและกระตุ้นอาการของ IBS ได้ เช่น อาหารทอด ขนมขบเคี้ยวที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน รวมถึงอาหารที่มีน้ำมันเยอะ

3.คาเฟอีนและแอลกอฮอล์: เครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง
คาเฟอีนในกาแฟ ชา และเครื่องดื่มชูกำลังสามารถกระตุ้นให้ลำไส้หดตัวมากเกินไป เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์  อาจจะต้องเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าและเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลแทนนะคะ

4.อาหารแปรรูป: สะดวกแต่ไม่ปลอดภัยสำหรับลำไส้
ถึงแม้อาหารแปรรูปจะสะดวก แต่ก็มักเต็มไปด้วยสารกันบูดและสารปรุงแต่งที่ทำให้ลำไส้ระคายเคือง เช่น ไส้กรอก แฮม ขนมกรุบกรอบ แนะนำเลือกอาหารสดแทนอาหารแปรรูป เช่น

-ข้าวผัดแฮม เปลี่ยนเป็น ข้าวผัดไก่, หมู หรือ กุ้ง

-ยำกุนเชียง เปลี่ยนเป็น ยำไข่ดาวหรือยำไข่ต้ม

5.ไฟเบอร์: มากเกินไปก็ไม่ดี

ถึงแม้ไฟเบอร์จะช่วยในการย่อยอาหาร แต่การได้รับไฟเบอร์มากเกินไปก็อาจทำให้ลำไส้ของคุณทำงานหนัก เช่น การกินธัญพืช ผักใบเขียวในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย แนะนำให้ค่อยๆ เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในแต่ละมื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการที่ไม่พึงประสงค์อย่างที่กล่าวไป

รับมืออย่างไรกับ IBS : ปรับอาหารแบบเข้าใจลำไส้ตัวเอง

แนะนำให้กินอาหารที่มี FODMAP ต่ำ

อาหารที่มี-FODMAP-ต่ำ-EWC
อาหาร FODMAP ต่ำ
  • ผัก  :  แตงกวา ผักสลัด แครอท บวบ ถั่วงอก กะหล่ำปลี กวางตุ้ง กุยช่าย มะเขือยาว กระเจี๊ยบมอญ มันฝรั่ง สาหร่าย พริกหวาน ผักโขม แห้ว ผักบุ้ง
  • ผลไม้ : แก้วมังกร ฝรั่ง(สุก) กีวี่ ส้ม เสาวรส มะละกอ สับปะรด มะขาม
  • ถั่วต่างๆ : ถั่วเขียว ถั่วลูกไก่ (1/4 ถ้วยตวง)
  • ถั่วเปลือกแข็งและธัญพืช : ถั่วลิสง ถั่วเมล็ดสน (Pine nuts) เกาลัด ควินัว ข้าวสวย โอ๊ต
  • เนื้อสัตว์ทุกชนิด (ที่ไม่มีกระเทียม/หัวหอมผสม)
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม : Lactose free เนย ชีสบางชนิด เช่น Brie, Cheddar, Feta, Mozzarella และ Parmesan เป็นต้น Whey protein isolate

หนึ่งในวิธีที่จะทำให้ชีวิตกับ IBS ง่ายขึ้น นั่นก็คือการจดบันทึกอาหารที่กินและสังเกตอาการของตัวเอง อาหารบางอย่างอาจจะกระตุ้นอาการในคนอื่น แต่อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา ดังนั้นการสังเกตอาหารที่ตัวเองกินและทดลองปรับเปลี่ยนอาหารด้วยตนเองน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราเข้าในลำไส้ของตัวเอง

        นอกจากนี้เราไม่แนะนำให้มีการจำกัดอาหารมากเกินความจำเป็น หากเราย้อนกลับไปดูอาหารที่มี FODMAP สูง หลายชนิดเป็นอาหารที่มีสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นหากมีการจำกัดอาหารมากเกินความจำเป็น อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ หรือควรระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเสี่ยงต่อการการสารอาหารอยู่แล้ว ดังนั้นควรปรึกษานักกำหนดาอาหาร นักโภชนการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับคุณ เพราะการรู้จักอาหารที่กระตุ้นและหลีกเลี่ยงมันได้ จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องกลัวอาการIBS อีกต่อไป

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

ส่งข้อความถึงเรา