fbpx

อาหารเคี้ยวง่าย โภชนาการที่ดี สำหรับผู้สูงอายุ 

หากพูดถึงการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ หลายคนอาจนึกถึงการออกกำลังกายหรือการควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่มักถูกมองข้ามคือ ‘ปัญหาการเคี้ยว’ ซึ่งอาจฟังดูเล็กน้อย แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้สูงอายุหลายคนที่พบว่าอาหารที่เคยกินอย่างอร่อย กลับกลายเป็นเรื่องยากลำบากเพียงเพราะการเคี้ยวที่ไม่เหมือนเดิม การดูแลเรื่องการเคี้ยวอาหารไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขามีความสุขกับการรับประทานอาหารมากขึ้นอีกด้วย วันนี้จทางอีทเวลคอนเซปต์จะมาแนะนำ อาหารเคี้ยวง่าย นุ่ม มีประโยชน์ให้ผู้คนที่ได้ดูแลผู้สูงอายุกัน

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความสามารถในการเคี้ยวอาหารก็เสื่อมถอยลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเคี้ยว ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียฟัน การใช้ฟันปลอมที่ไม่พอดี โรคเหงือก หรือปัญหาทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้อาหารที่เคยเคี้ยวได้ง่ายกลายเป็นเรื่องยาก ส่งผลให้ผู้สูงอายุมักหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่เคี้ยวลำบาก เช่น เนื้อสัตว์ ผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง หรือผักที่มีเส้นใยมาก ทั้งที่อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนและใยอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ การหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็น ส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ 

เคล็ดลับในการเลือกอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เคี้ยวลำบาก 

เคล็ดลับในการเลือกอาหาร ผู้สูงอายุ-EWC
เคล็ดลับในการเลือกอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เคี้ยวลำบาก 
  1. เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่มีความนิ่ม 

โปรตีนมีความสำคัญต่อการซ่อมแซมและรักษากล้ามเนื้อ แต่การเคี้ยวโปรตีนจากเนื้อสัตว์มักเป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นเราควรเลือกแหล่งโปรตีนที่มีเนื้อนุ่มและย่อยง่าย เช่น เต้าหู้, เนื้อปลา, ไข่, หรือ เนื้อสัตว์สับหรือบดละเอียด เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถบดเคี้ยวได้ง่ายขึ้นและทำให้ได้รับโปรตีนอย่างครบถ้วนต่อร่างกาย 

  1. การใช้เครื่องปั่นและบดอาหาร 

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันหรือการใช้ฟันปลอม การปรับเปลี่ยนเนื้อสัมผัสของอาหารเป็นสิ่งสำคัญ สามารถใช้เครื่องปั่นบดอาหาร เช่น โจ๊กปั่น, ซุปผักบด, สมูทตี้ผัก/ผลไม้, หรือ ซุปเนื้อสัตว์บด เพื่อให้ทานได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงมีสารอาหารที่ครบถ้วน 

  1. การเติมไขมันดีในอาหาร 

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเคี้ยวมักจะเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำเพราะคิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง การเพิ่มไขมันดี เช่น อะโวคาโด, น้ำมันมะกอก, น้ำมันรำข้าว หรือ เนยถั่ว ในปริมาณที่พอเหมาะ สามารถช่วยเพิ่มพลังงานและทำให้อาหารอร่อยมากขึ้น แถมยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E และ K 

  1. ใส่ใจในความชุ่มชื้นของอาหาร 

การเลือกอาหารที่มีความชุ่มชื้นช่วยให้การกลืนง่ายขึ้น เช่น ข้าวต้ม, โจ๊ก, แกงจืดหรือซุปต่างๆ อาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้รับประทานง่าย แต่ยังช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ 

ตัวอย่างเมนู อาหารเคี้ยวง่าย อร่อย และดีต่อสุขภาพ 

1.ปลานึ่งซีอิ๊วกับข้าวสวยนุ่ม 

ปลานึ่งซีอิ๋ว+ช้าวสวย -EWC

วัตถุดิบ

  • เนื้อปลากะพงขาว 80-100 กรัม
  • ขิงอ่อนซอยละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันงา 1 ช้อนชา
  • ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ 

วิธีทำ

  • วางเนื้อปลากะพงขาวในจานนึ่ง โรยขิงซอยและซีอิ๊วขาวลงบนเนื้อปลา 
  • นำไปนึ่งในหม้อนึ่งประมาณ 10-15 นาทีจนปลาสุกนุ่ม 
  • ราดน้ำมันงาลงบนปลาหลังจากนึ่งเสร็จ โรยต้นหอมซอย พร้อมเสิร์ฟกับข้าวสวยนุ่มๆ 

ข้อดี: ปลานึ่งซีอิ๊วมีรสชาติกลมกล่อม เนื้อปลานุ่มและย่อยง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่ต้องระมัดระวังปัญหาจากก้างปลาติดคอ และเคี้ยวขิงไม่ไหว  

2.ผัดฟักทองใส่ไข่ 

ผัดฟักทองใส่ไข่-EWC

วัตถุดิบ

  • ฟักทองปอกเปลือกหั่นบาง 100 กรัม
  • ไข่ไก่ 2 ฟอง, น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะ
  • กระเทียมสับ, ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา
  • น้ำตาลทรายเล็กน้อย 

วิธีทำ: 

  • เพื่อให้ฟักทองนุ่มมากขึ้น ควรนึ่งฟักทองให้สุกจนนิ่มก่อน เพื่อให้นิ่มเร็วตอนช่วงที่ผัดกับไข่  
  • ตั้งกระทะใส่น้ำมันรำข้าว กระเทียม และ ใส่ฟักทองลงไปผัดกับน้ำเล็กน้อยจนฟักทองนุ่ม 
  • ตอกไข่ไก่ลงไป คนให้เข้ากับฟักทองและรอจนไข่สุก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและน้ำตาลเล็กน้อย 
  • ผัดให้เข้ากันดีจนเนื้อฟักทองและไข่นุ่มพร้อมทาน 

ข้อดี: ฟักทองเนื้อหวานและนุ่ม ให้พลังงานและวิตามิน A สูง ไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและย่อยง่าย ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารครบถ้วนในมื้อเดียว  หากเบื่อฟักทอง สามารถสลับเป็น บวบ แตงร้านปลอกเปลือก มันฝรั่ง แทนได้เช่นกัน 

3.แกงเลียงเต้าหู้กุ้งสับ 

แกงเลียงเต้าหู้-EWC

วัตถุดิบ

  • เต้าหู้คินุ 1 ก้อน
  • กุ้งสับ 50 กรัม
  • บวบหั่นบาง 1 ถ้วย
  • ฟักทองหั่นบาง 1/2 ถ้วย
  • ใบแมงลัก 1 ถ้วย
  • น้ำซุปผัก 500 มิลลิลิตร
  • หอมแดง กระชาย
  • กะปิ และ น้ำปลาตามชอบ 

วิธีทำ: 

  • ตั้งหม้อน้ำซุปผักให้เดือด ใส่พริกแกงเลียงอย่างง่าย (โขลก หอมแดง กระชาย และกะปิ) 
  • ใส่กุ้งสับลงไปต้มจนสุก จากนั้นใส่บวบและฟักทองลงไป ต้มจนผักนุ่ม  
  • หั่นเต้าหู้อ่อนเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ลงในหม้อ ต้มต่อประมาณ 3-5 นาที 
  • ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่ใบแมงลักลงไปคนให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟ 

ข้อดี : แกงเลียงเป็นอาหารไทยที่มีผักหลากหลาย มีกลิ่นของสมุนไพรช่วยกระตุ้นให้มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น มีเต้าหู้อ่อนและกุ้งสับ เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพต่อร่างกาย 

การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเคี้ยว ไม่ใช่แค่การปรับเนื้อสัมผัสของอาหารให้นุ่มและเคี้ยวง่ายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใส่ใจในคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนในทุกมื้ออาหารอีกด้วย การเลือกวัตถุดิบที่ให้โปรตีนสูงแต่เคี้ยวง่าย การใช้วิธีการปรุงอาหารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของอาหาร และการปรับรสชาติให้ถูกใจล้วนเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับทั้งสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและยังรู้สึกมีความสุขกับการรับประทานอาหารมากขึ้น 

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การรับประทานอาหารไม่ใช่เพียงแค่การเติมเต็มท้อง แต่เป็นการเติมเต็มหัวใจของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน การได้รับประทานอาหารที่อร่อยถูกใจและเคี้ยวง่ายช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความใส่ใจและการดูแลจากคนรอบข้าง ทำให้ทุกคำที่เคี้ยวไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ยังเต็มไปด้วยความรักและความห่วงใย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดในการเดินทางผ่านช่วงชีวิตที่สำคัญนี้ 

ดังนั้น มาร่วมกันสร้างมื้ออาหารที่ทั้งอร่อยและสุขภาพดี เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เรารักได้เอนจอยกับมื้ออาหาร และมีความสุขร่วมกับการมีสุขภาพดีไปด้วยกันค่ะ 

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

ส่งข้อความถึงเรา