fbpx

โรคลำไส้แปรปรวน แนะนำกินอาหาร FODMAPs ต่ำ

หลายคนเชื่อว่า “กินผัก ผลไม้เยอะ ๆ ดีต่อสุขภาพ” แต่เคยสังเกตไหมคะว่าบางครั้งหลังจากกินอาหารเหล่านี้เข้าไป กลับทำให้เรารู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หรือแม้แต่ท้องเสีย และแน่นอนว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่สำหรับคุณที่ต้องเผชิญเรื่องเหล่านี้เป็นประจำ ทำให้นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลย กับการที่ต้องคอยเลือกหรือกังวลว่าหากกินอาหารชนิดนี้เข้าไปแล้วจะทำให้ท้องไส้ของเราปั่นป่วนหรือเปล่า และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ต้องเผชิญปัญหาใน โรคลำไส้แปรปรวน เป็นประจำ ลองมาทำความรู้จักกับ อาหาร FODMAP หรือ กลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายบางคนดูดซึมได้ไม่ดี ซึ่งอาจเป็นตัวการที่สำคัญอย่างหนึ่งของอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารของเรานั่นเอง

FODMAP คืออะไร ทำไมถึงส่งผลต่อลำไส้

FODMAP (Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides, and Polyols) เป็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายย่อยและดูดซึมได้ยาก

FODMAP ย่อมาจาก:

  • Fermentable (การหมัก)
  • Oligosaccharides (เช่น หัวหอม กระเทียม ข้าวสาลี)
  • Disaccharides (เช่น แลคโตสในนม)
  • Monosaccharides (เช่น ฟรุกโตสในแอปเปิล น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมข้าวโพด)
  • Polyols (เช่น สารให้ความหวานในหมากฝรั่ง)

เมื่อเรากินอาหารที่มี FODMAP สูงเข้าไป สารเหล่านี้จะถูกหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้เกิดแก๊ส ดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ และทำให้เกิดอาการ ท้องอืด แน่นท้อง ปวดเกร็ง และการขับถ่ายผิดปกติ

อาหารที่มี-FODMAP-สูง-EWC

อาหารแบบ Low FODMAP คืออะไร?

อาหาร Low FODMAP คืออาหารที่มีปริมาณ FODMAP ต่ำ ซึ่งช่วยลดอาการของลำไส้แปรปรวนได้ โดยมีการศึกษาจากงานวิจัยหลายฉบับ พบว่า ผู้ที่มีปัญหาเรื่องลำไส้แปรปรวน หรือ IBS นั้น มีอาการดีขึ้นเมื่อกินอาหารแบบ Low FODMAP

Low FODMAP Diet หรือการกินอาหาร FODMAP ต่ำ เหมาะกับใคร?

✅ ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
✅ โรค SIBO (Small Intestinal Bacterial Overgrowth) : ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียมากผิดปกติในลำไส้เล็ก
✅ ผู้ที่มีอาการลำไส้ไวต่ออาหารบางชนิด (Food Sensitivity)
✅ ผู้ที่มักมีอาการท้องอืดเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ

แต่หากไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง FODMAPs ทั้งหมด เพราะอาหารบางอย่างที่มี FODMAP สูง ยังคงเป็นอาหารที่มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย

ตัวอย่างอาหาร Low FODMAP ที่เหมาะสำหรับคนลำไส้แปรปรวน

อาหารที่มี-FODMAP-ต่ำ-EWC
โรคลำไส้แปรปรวน กับอาหารFODMAP ต่ำ

โปรตีนหรือเนื้อสัตว์ที่ควรเลือก

  • เนื้อสัตว์ไม่ผ่านการหมักหรือปรุงด้วยกระเทียมและหัวหอม เช่น ไก่ หมู เนื้อวัว ปลา กุ้ง
  • ไข่

✅ ผักที่ไม่ทำให้ท้องอืด

  • แตงกวา
  • ผักสลัด
  • แครอท
  • บวบ
  • ถั่วงอก
  • กะหล่ำปลี
  • กวางตุ้ง
  • กุยช่าย
  • มะเขือยาว
  • กระเจี๊ยบมอญ
  • มันฝรั่ง
  • สาหร่าย
  • พริกหวาน
  • ผักโขม
  • แห้ว
  • ผักบุ้ง

ผลไม้

  • แก้วมังกร
  • ฝรั่ง(สุก)
  • กีวี่
  • ส้ม
  • เสาวรส
  • มะละกอ
  • สับปะรด
  • มะขาม
  • กล้วย
  • เลมอนและมะนาว

แหล่งคาร์โบไฮเดรต

  • ข้าว
  • ควินัว
  • มันฝรั่ง
  • มันเทศ หรือ มันหวาน
  • ข้าวโอ๊ต
  • ฟักทอง
  • ขนมปังหรือซีเรียลที่ปราศจากกลูเตน
  • เส้นต่างๆ เช่น เส้นเล็ก เส้นใหญ่ วุ้นเส้น เส้นหมี่/หมี่ขาว (ยกเว้น บะหมี่)

✅ นมและผลิตภัณฑ์ทางเลือก

  • นมและโยเกิร์ตที่ไม่มีแลคโตส (Lactose free)
  • นมอัลมอนด์
  • นมข้าว
  • ชีสที่มีแลคโตสต่ำ เช่น Brie, Cheddar, Feta, Mozzarella และ Parmesan

ควรเริ่มต้น Low FODMAP Diet อย่างไรดี ?

1️. ช่วงแรก (Elimination Phase) หลีกเลี่ยงอาหารที่มี FODMAP สูงทั้งหมด (สามารดูเพิ่มได้จากบทความ…ใส่ลิงค์อันบทความก่อนหน้านี้) เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ลำไส้ได้พักและลดอาการผิดปกติ


2️. ช่วงทดลอง (Reintroduction Phase) ค่อย ๆ กลับมากินอาหารที่มี FODMAP สูง ทีละประเภท เพื่อตรวจสอบว่าอาหารชนิดใดทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องต่างๆ รวมถึงจดบันทึกอาการของตัวเองหลังกินอาหาร เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการ
ข้อควรระวัง:

  • อย่าทดสอบอาหารหลายชนิดพร้อมกัน เพราะอาจทำให้แยกไม่ออกว่าอาหารชนิดใดเป็นตัวกระตุ้น
  • ควรใช้เวลา 2-3 วันในการทดสอบแต่ละชนิด และเว้นช่วงก่อนเริ่มทดสอบอาหารใหม่

3️. ช่วงรักษาสมดุล (Maintenance Phase) ปรับอาหารให้เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน โดยเลือกกินเฉพาะอาหารที่ไม่กระตุ้นอาการ หรือกินอาหารในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดอาการที่ไม่สบายท้อง

ข้อควรระวัง:

  • หลีกเลี่ยงการกลับไปบริโภคอาหารที่มี FODMAP สูงมากเกินไปในคราวเดียว เพราะอาจทำให้เกิดอาการอีกครั้ง
  • Low FODMAP Diet ไม่ใช่แนวทางการกินที่ต้องทำไปตลอดชีวิต แต่เป็นเครื่องมือช่วยระบุอาหารที่เหมาะสมกับเราในสภาวะที่ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้แปรปรวนเท่านั้น


นอกจากนี้หากมีปัญหาเรื่องนี้เรื้อรัง หรือ กินอาหารแบบ Low FODMAP แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาลำไส้อยู่ แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ เนื่องจากการจำกัดอาหารบางประเภทมากจนเกินความจำเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารในอนาคตได้เช่นเดียวกันค่ะ ดังนั้นควรปรึกษานักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางชนิดและช่วยปรับการเลือกกินอาหารให้เหมาะสมสำหรับตัวเราเองได้

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • IBS Diets. (Updated: 2024, August 13th ). FODMAP food list. https://www.ibsdiets.org/fodmap-diet/fodmap-food-list/
  • Nanayakkara, W. S., Skidmore, P. M., O’Brien, L., Wilkinson, T. J., & Gearry, R. B. (2016). Efficacy of the low FODMAP diet for treating irritable bowel syndrome: the evidence to date. Clinical and experimental gastroenterology, 131-142.
  • Altobelli, E., Del Negro, V., Angeletti, P. M., & Latella, G. (2017). Low-FODMAP diet improves irritable bowel syndrome symptoms: a meta-analysis. Nutrients, 9 (9), 940.
Tag :
ส่งข้อความถึงเรา