fbpx

กว่าจะเป็น นักกำหนดอาหาร

เราอาจจะเคยได้ยินอาชีพที่คุ้นหูอย่าง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และนักกายภาพบำบัด  ซึ่ง บุคคลที่จะมาประกอบอาชีพข้างต้นได้จะต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ ตามที่พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542

แต่ในปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าขึ้น จึงมีอาชีพนักกำหนดอาหารขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อมาร่วมการให้การรักษาด้านอาหารหรือโภชนบำบัดโดยตรง จึงมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ “สาขาการกำหนดอาหาร” เป็น สาขาการประกอบโรคศิลปะ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งหมายความว่าผู้ใดที่จะประกอบอาชีพ นักกำหนดอาหาร จะต้องมีใบประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารจึงจะกระทำอาชีพนี้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นักกำหนดอาหาร คือใคร?

นักกำหนดอาหารคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการและอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละโรค แต่ละช่วงวัย เป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพ เพื่อดูแลเรื่องอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมแผนการรักษาผู้ป่วย

ตามพระราชกฤษฎีกา มีการระบุความหมายของการกำหนดอาหาร ไว้ว่า “การกระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยปัญหาโภชนาการ โดยประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย วิเคราะห์ และวางแผนการให้โภชนบำบัด การให้คำปรึกษา ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริม และฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และการดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับโรคและภาวะโภชนาการ ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึง การปรุงและการประกอบอาหาร สำหรับการให้บริการผู้ป่วยตามปกติในสถานพยาบาล”

นักกำหนดอาหารสำคัญอย่างไรกับวงการแพทย์

                 ‘อาหาร’ ถือว่าเป็นการรักษาแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์ เรียกว่าเป็นการรักษาแบบ ‘โภชนบำบัด’ ซึ่งนักกำหนดอาหารที่มีใบประกอบโรคศิลปะ หรือ ‘นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียน (Registered Dietitian; RD) เท่านั้น ที่   มีสิทธิ์เขียนใบสั่งอาหาร เพื่อรักษาผู้ป่วย

เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ร่ำเรียนโดยตรงจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองหลักสูตรตามที่ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารได้ระบุเอาไว้ เรื่อง เกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอน สาขาการกำหนดอาหาร พ.ศ. 2566

คุณสมบัติของสถาบันที่จัดการเรียนการสอนสาขาการกำหนดอาหาร

สถาบันการศึกษาที่มีความประสงค์จะจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสาขาการกำหนดอาหาร ต้องมีองค์ประกอบของสถาบันการศึกษาตามหัวข้อ ต่อไปนี้

  1. คุณสมบัติของสถาบันการศึกษาที่ขอเปิดดำเนินการหลักสูตรสาขาการกำหนดอาหาร
  2. บุคลากรทางด้านอาจารย์
  3. คุณสมบัติของนิสิต/นักศึกษา
  4. หลักสูตร
  5. ระบบการดูแลนักศึกษา/ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา
  6. อาคารสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนการสอน
  7. ห้องสมุด
  8. การบริหารจัดการ
  9. การประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการประเมินสถาบัน

เกณฑ์เกี่ยวกับองค์ประกอบของสถาบันการศึกษา ตามหัวข้อข้างต้นให้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายใน เพื่อให้สามารถวัดผลลัพธ์การดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงาน รับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยแต่ละเกณฑ์มีรายละเอียดเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร 

ฝึกงานสาขาการกำหนดอาหารมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง

การรับฝึกงานสาขาการกำหนดอาหารของสถานพยาบาลหรือองค์กรต่างๆจะต้องอยู่ภายใต้ผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะตามประกาศที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำาหนดอาหาร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารของนักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม ณ วันที่ 12  มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีรายละเอียดดังนี้

ข้อ 1. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2. ในประกาศนี้

“นักเรียน นักศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในหลักสูตรปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหารจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพรับรอง                                                                                 

“ผู้รับการฝึกอบรม” หมายความว่า บุคคลซึ่งเข้ารับการฝึกหัดหรืออบรมในหลักสูตรเกี่ยวกับการกำหนดอาหารจากสถาบันหรือหน่วยงานที่คณะกรรมการวิชาชีพรับรอง

“คณะกรรมการวิชาชีพ” หมายความว่า คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร

“ผู้ประกอบโรคศิลปะ” หมายความว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม

ข้อ 3. ให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมกระทำการประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรมได้ในกิจกรรม

(1) กิจกรรมที่กำหนดในหลักสูตรของสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพ หรือ

(2) กิจกรรมอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบโรคศิลปะซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม

ข้อ 4. ในกรณีที่มีปัญหาตามประกาศนี้ให้ประธานกรรมการการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

สถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหารในประเทศไทย ได้แก่

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • คณะสหเวชศาสตร์  สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร  (วท.บ.)
  • มหาวิทยาลัยมหิดล
    • คณะสาธารณสุขศาสตร์  สาขาวิชาเอกโภชนวิทยา และการกำหนดอาหาร  (วท.บ.)
    • สถาบันโภชนาการ สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร  (วท.ม.)
  • มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์
    • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร  (วท.บ.)
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
    • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร (วท.บ.)
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
    • คณะเกษตร  สาขาวิชาอาหารโภชนาการและการกำหนดอาหาร (วท.บ.)
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    • คณะสาธารณสุขศาสตร์  สาขาวิชาโภชนศาสตร์ การกำหนดอาหารและอาหารปลอดภัย  (วท.บ.)
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
    • คณะสหเวชศาสตร์  สาขาวิชาโภชนบำบัดและการกำหนดอาหาร (วท.บ.)
  • มหาาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
    • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาโภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร (วท.บ.)

ก้าวสู่วิชาชีพ นักกำหนดอาหาร ต้องทำอย่างไร

นักกำหนดอาหาร ถือเป็นวิชาชีพเฉพาะ โดยผู้ที่สามารถเป็นนักกำหนดอาหารได้จะต้องเรียนจบด้านโภชนาการและการกำหนดอาหารมาโดยตรงกับสถาบันที่ได้รับการรับรอง และต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนนักกำหนดอาหารวิชาชีพ

โดยสามารถสอบขึ้นทะเบียนนักกำหนดอาหารวิชาชีพ (Registered Dietitian; RD) กับทางสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย (Thai Dietetic Association) ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะการกำหนดอาหาร กระทรวงสาธารณสุข เป็นประจำทุกปี

ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร

การจะได้ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารมานั้นต้องผ่านการรับของของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารและมีสิทธิประกอบโรคศิลปะตามสาขาดังกล่าวได้ภายใต้บทบังคับแห่งกฎหมาย (Registered Dietitian; RD)

การประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร เป็นสาขาวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ในด้านการดูแลด้านโภชนาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงมีกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้ามามีส่วนกำหนดโทษที่เกิดจากการกระทบสิทธิของผู้ป่วยจากการประกอบวิชาชีพอันถือเป็นผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการวิชาชีพเป็นผู้พิจารณาโทษทั้งการตักเตือน พักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามแต่ที่เห็นสมควร

สรุป

ในอดีตประเทศไทยไม่เคยมีใบประกอบโรคศิลปะสาขานักกำหนดอาหารและไม่เคยมีตำแหน่งนักกำหนดอาหารอยู่ในระบบราชการมาก่อน โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่มีการดูแลด้านโภชนาการผู้ป่วยอย่างละเอียด แต่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการด้านโภชนาการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัย

นอกจากนี้คณะกรรมการวิชาชีพได้มีการออกประกาศข่าวสารเกี่ยวกับนักกำหนดอาหารเพิ่มเติม ในเรื่องเกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอน สาขาการกำหนดอาหารสำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปิดหลักสูตรด้านการกำหนดาหาร และ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารของนักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม สำหรับสถานพยาบาลหรือองค์กรต่างๆที่ต้องการรับเด็กฝึกงานด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร เพื่อเป็นแนวทางกำหนดที่ถูกต้องและมีหลักเกณฑ์เดียวกัน


ดูแลสุขภาพของคุณอย่างถูกวิธี พร้อมรับคำปรึกษาออนไลน์จาก นักกำหนดอาหาร

และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ

โภชนบำบัด โปรแกรมอาหารส่วนบุคคล โปรแกรมสุขภาพในองค์กร ได้ที่นี่ Eat Well Concept

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการต่าง ๆ จากนักกำหนดอาหารของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

เมื่อวานนี้ทานอะไร?

เล่าเรื่องราวของอาหารในมิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจและมีมากกว่าแค่ “น่ากิน”

แหล่งอ้างอิง

  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 136 ง (2566). ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารได้ระบุเอาไว้ เรื่อง เกณฑ์และแบบประเมินเพื่อการรับรองสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอน สาขาการกำหนดอาหาร.
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 136 ง. (2566). ประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารของนักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรมซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นผู้ให้การศึกษาหรือฝึกอบรม.
  • พี่แนนนี่. (2564, 03 04). “นักกำหนดอาหาร” วิชาชีพใหม่ล่าสุด ที่ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพก่อนทำงาน. Retrieved from เด็กดีดอทคอม: https://www.dek-d.com/tcas/57330/
  • ม่วงศรี, ก. (2023). กฎหมายกับการประกอบวิชาชีพการกำหนดอาหารและการสื่อสารกับผู้ประกอบวิชาชีพ. Journal of MCU NakhonDhat, 16-29.

ส่งข้อความถึงเรา