fbpx

6 วิธี พิชิต เก๊าท์ ปรับการกินเมื่อเป็นโรค

เก๊าท์ – โรคต้องสงสัยแรกที่เราคิดว่าต้องใช่ ต้องใช่แน่ๆ เมื่อมีอาการปวดข้อเข่า หรือบริเวณข้อต่างๆ ในร่างกาย แท้จริงแล้ว โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร ทำไมเราจึงมีอาการปวดข้อเข่า ห้ามกินไก่ จริงมั้ย แล้ว หรือ ควรจะกินอะไร แทน เพื่อป้องกันอาการและโรค

ทำความรู้จักโรค เก๊าท์

โรค เก๊าท์ เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานพอสมควร เมื่อร่างกายมีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป จนกระทั่งเกิดการตกผลึกในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณข้อต่างๆ โดยอาการของโรค คือ อาการปวด บวม ร้อน อย่างรุนแรงที่บริเวณข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่างๆ อย่างเฉียบพลัน ไม่เพียงแต่ ปวดข้อเข่า เท่านั้น อาการของโรคมักเริ่มต้นขึ้นที่อาการปวดข้อบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า และอาจปวดบริเวณข้อเท้าหรือ ปวดข้อเข่า ร่วมด้วย

อาการโรคเก๊าท์
อาการโรค เก๊าท์

โรค เก๊าท์ เกิด เมื่อกรดยูริกเกินจำเป็น

เมื่อตัวการหลักของการเกิดโรค เก๊าท์ คือ การมีกรดยูริกสะสมในร่างกายมากเกินไปจนตกผลึกที่บริเวณข้อ การรักษาโรคจึงพุ่งเป้าไปที่การลดระดับกรดยูริกเป็นหลัก แล้วกรดยูริกนี่มันมาจากไหนกัน?

กรดยูริกถือได้ว่าเป็นสารของเสียในร่างกายที่เกิดจากการกินอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งปกติร่างกายจะมีระบบการจำกัดของเสียอยู่แล้ว ในกรณีของสารพิวรีนนี้ ร่างกายจะเผาผลาญสารพิวรีนที่ตับได้กรดยูริก ก่อนส่งไปยังไตเพื่อขับทิ้งออกทางปัสสาวะ ดังนั้น หากพบว่าร่างกายมีการสะสมกรดยูริกมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าร่างกายกำลังมีปัญหาในการกำจัดกรดยูริกออกมาไม่ทัน ปัญหาเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นได้จาก

  • โรคไตเรื้อรังหรือโรคนิ่วในไต ที่ทำให้ไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ รวมถึงกรดยูริกด้วย
  • เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญสารพิวรีนในร่างกาย หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ทำให้ตับอาจเผาผลาญสารพิวรีนมากขึ้นหรือเร็วขึ้น ส่งผลให้มีกรดยูริกที่รอการกำจัดทิ้งในปริมาณมากจนร่างกายขับออกไม่ทัน
  • การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีกต่างๆ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก เป็นต้น ทำให้ร่างกายได้รับของเสียคือกรดยูริกมากเกินไปจนขับทิ้งออกไม่ทัน
  • ความผิดปกติจากภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกสลาย (Hemolysis) ความเป็นพิษจากสารตะกั่ว (Lead poisoning) สภาวะความเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis) ภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) การได้รับยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น

แนะนำ 6 วิธี ปรับการกินเมื่ออาการปวดถามหา

หากสังเกตดีๆ จะพบว่าหลายสาเหตุนั้นมีอาหารเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องในการเกิดโรค เก๊าท์ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับอาหารที่มีสารพิวรีนสูง การเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น อาหารจึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่เราสามารถควบคุมปริมาณกรดยูริกในร่างกายได้ ข่าวดีคือ “โรคนี้ ≠ ห้ามกินไก่” แล้วเราควรกินอะไร แบบไหน เพื่อที่จะรักษาให้อาการดีขึ้นได้ ลองอ่าน 6 เทคนิคนี้แล้วนำไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเรากันดูได้เลย

อาหารต้านเก๊าท์ - วิธีการรับประทานอาหารโรคเก๊าท์
อาหารต้านเก๊าท์ – วิธีการรับประทานอาหารโรคเก๊าท์

  1. เครื่องดื่มหลักคือน้ำเปล่า เสริมด้วยนมไขมันต่ำ
    อันดับแรก ขอให้เริ่มจากการปรับเปลี่ยนเครื่องดื่มก่อน เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องดื่มทุกวัน ตลอดวัน ลองคิดแค่ว่าหากเราดื่มเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดกรดยูริกสูงทุกๆ วัน ร่างกายจะกำจัดกรดยูริกออกทันได้อย่างไร การปรับเปลี่ยนเครื่องดื่มจึงเป็นพฤติกรรมแรกที่ควรทำอย่างจริงจัง โดยให้น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มหลัก 6-8 แก้ว (1.5 ลิตร) ต่อวัน และเสริมด้วยนมไขมันต่ำ 1-2 แก้วต่อวัน จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำชาเขียว เป็นต้น
  2. ลดเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องใน หอย
    อย่าเพิ่งท้อแท้ว่า ‘แล้วจะเหลืออะไรให้ฉันกิน?’ เพราะจริงๆ แล้วเรายังสามารถเลือกกินเนื้อสัตว์เหล่านี้ได้อยู่ เช่น เลือกกินส่วนของเนื้อไก่ที่ไม่ติดกระดูกอย่างอกไก่ เป็นส่วนที่มีพิวรีนน้อยกว่าส่วนน่อง สะโพก หรือปีก ส่วนของเนื้อแดงให้เลือกส่วนที่มันน้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปริมาณและความถี่ในการกินด้วยเช่นกัน
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำเชื่อมฟรุกโตส (High-fructose syrup)
    นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ไอศกรีม ขนมอบ หรือของหวานต่างๆ มีการใช้น้ำเชื่อมฟรุกโตสกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งน้ำเชื่อมฟรุกโตสส่งผลต่อการเพิ่มกรดยูริกในร่างกายได้ ก่อนจะเลือกซื้ออะไรมากิน ลองเช็คส่วนประกอบซักนิด แล้วเลือกอันที่ไม่มีน้ำเชื่อมฟรุกโตสมาจะดีกว่า
  4. ดูแลตัวเองไม่ให้น้ำหนักเกิน
    เพราะภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีผลต่อการสร้างกรดยูริกในร่างกายมากขึ้นได้ การควบคุมดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ ช่วย รักษาโรคเก๊าท์ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ด้วย
  5. จดบันทึกอาหารที่กิน เช็คย้อนหลังได้เมื่อ เก๊าท์ กำเริบ
    ข้อนี้ขอให้ไว้เป็นเทคนิคในการสังเกตและดูแลตัวเองแบบง่ายๆ เพราะจริงๆ แล้วแต่ละคนมีความไวต่ออาหารในการเกิดกำเริบของโรค เก๊าท์ ไม่เท่ากัน การจดบันทึกอาหารที่กินในแต่ละมื้อแค่คร่าวๆ ก็สามารถทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเรา sensitive ต่ออาหารชนิดไหน ทำให้เรามีทางเลือกในการกินมากขึ้นได้
  6. กินดื่มสังสรรค์ได้บ้าง แต่นานๆครั้ง
    ถ้ายังรู้สึกว่าการ ห้ามกินไก่ งดน้ำอัดลม หรืออดของหวาน เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นความสุขในชีวิตของเรา อนุญาตให้ตัวเองได้มีความสุขกับมันได้บ้าง แต่ต้องอยู่ในปริมาณและความถี่ที่เหมาะสม หากอาการของโรคยังไม่เป็นปกติ กรดยูริกในเลือดยังสูงอยู่ ก็ควรจำกัดปริมาณที่ทานอย่างจริงจัง แต่ถ้าสามารถหักดิบได้จริงๆ นี่คือภาพในฝันของพวกเราชาวนักกำหนดอาหาร ที่เราอยากให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์สามารถ ลด ละ เลิก ได้อย่างจริงจัง หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แนวทางการรับประทานอาหาร สำหรับโรคเก๊าท์
แนวทางการรับประทานอาหาร สำหรับโรคเก๊าท์

ที่มา: https://themomentum.co/gout-health/

เมื่ออาการกำเริบขึ้นมา นอกจากอาการ ปวดข้อเข่า และข้อต่างๆ ในร่างกายแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย ทั้งโรคไต โรคตับ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ดังนั้น ลองพิจารณาหรือปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อปรับการกินให้เหมาะสมกับตัวเราเอง ว่าไหวถึงแค่ไหน ควรกินอะไร ปรับอย่างไร จะได้กินอาหารอย่างมีความสุขทั้งสุขภาพกายและใจไปพร้อมๆ กัน

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง  :

  1. Beyl, R. N., Hughes, L., & Morgan, S. (2016). Update on Importance of Diet in Gout. The American Journal of Medicine, 129(11), 1153–1158.
  2. FitzGerald JD, Dalbeth N, Mikuls T, et al. 2020 American College of Rheumatology Guideline for the Management of Gout. Arthritis Care Res (Hoboken). 2020; 72: 744- 760.
ส่งข้อความถึงเรา