เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ การที่เรามีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีรูปแบบการกินที่เชื่อว่าจะดีต่อสุขภาพมากมาย เช่น จำกัดเวลาการกิน จำกัดชนิดอาหารที่กินได้ อย่างเช่น เลือกกินเฉพาะไขมัน กินคาร์โบไฮเดรตต่ำ รวมถึงไปถึงการเน้นกินแต่เนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า Carnivore diet ซึ่งเป็นการกินรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะเชื่อว่าการกินรูปแบบนี้จะดีและทำให้น้ำหนักลดลงได้ แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกินเพื่อลดน้ำหนักที่เน้นเนื้อสัตว์ เป็นอย่างไร เราจะมาดูกัน
Carnivore diet คืออะไร
Carnivore diet หรือ ตัวย่อว่า CD เป็นรูปแบบการกินรูปแบบหนึ่งที่ต้องจำกัดชนิดอาหาร โดยสามารถกินได้แค่เนื้อสัตว์ ไขมันจากสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีน้ำตาลแลคโตสต่ำหรือปราศจากน้ำตาลแลคโตส เช่น เนย ชีส และห้ามกินอาหารประเภทอื่นเลย ทั้งธัญพืช ผัก ผลไม้ และถั่ว ทั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าการกินแบบ Carnivore diet คือการกินแบบขั้นกว่าของ Low carb diet และ Ketogenic diet เพราะรูปแบบการกินทั้งสองนั้นแค่จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตแต่ Carnivore diet ไม่สามารถกินคาร์โบไฮเดรตได้เลย
Do & Don’t เมื่อต้องการกินแบบCarnivore diet
Carnivore dietจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและปริมาณการกิน สามารถเลือกกินตามเวลาที่หิวและปริมาณตามต้องการได้เลย
Carnivore dietลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่
มีการศึกษาพบว่า การกินอาหารที่มีโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ จะช่วยลดน้ำหนักได้ ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าโปรตีนช่วยให้เราอิ่มเร็วและนานขึ้น ทำให้กินอาหารต่อมื้อน้อยลง พลังงานที่ร่างกายได้รับก็น้อยลงจึงทำให้น้ำหนักลดลงได้ รวมถึงการกินอาหารที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูงกว่า จะทำให้น้ำหนักที่ลดลงนั้นเป็นไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ซึ่งถือว่าเป็นการลดน้ำหนักที่ดี ช่วยลดโอกาสการกลับมามีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต แต่โดยภาพรวมของการศึกษาเรื่องการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อลดน้ำหนัก ก็ไม่ได้มีข้อจำเป็นให้ต้องตัดคาร์โบไฮเดรตออกทั้งหมด แต่เพียงแค่อาจจะลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง เพิ่มปริมาณโปรตีนมากขึ้น เพื่อให้ปริมาณพลังงานที่ได้รับเหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการมากกว่า
ประโยชน์ด้านอื่นของ Carnivore diet
หากมองในมุมอื่นนอกจากการลดน้ำหนัก การกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง ควบคุมการกินขนมหวาน น้ำหวาน นั้น จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่งผลดีต่อโรคเบาหวาน รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆได้
แต่อย่างไรก็ตาม การจะคุมโรคเหล่านี้ให้ได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องงดคาร์โบไฮเดรตไปเลยเพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี เพียงแค่ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว
ข้อควรระวังเมื่อกิน Carnivore diet
- ได้รับไขมันและโซเดียมเยอะเกิน
ด้วยความที่Carnivore diet ต้องกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก แต่ไม่ได้มีการกำหนดชนิดของเนื้อสัตว์ ดังนั้นหากกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ก็จะทำให้ไขมันในเลือดขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และหากกินเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ ก็เสี่ยงได้รับโซเดียมเยอะเกิน ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้ รวมถึงมีงานวิจัยพบว่า การกินเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร
คนที่กินCarnivore diet เป็นระยะเวลานาน มีโอกาสขาดวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ ที่พบได้ในผลไม้ ผัก เป็นหลัก ซึ่งนั่นก็ส่งเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ รวมถึงการได้รับใยอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารได้ เพราะใยอาหารมีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบลำไส้ ช่วยทำให้แบคทีเรียในลำไส้มีความสมดุล มีผลต่อการขับถ่าย จนเกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นถ้าขาดใยอาหารก็ส่งผลเสียต่อระบบนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบเห็นได้บ่อย ๆ เช่น ผมขาดหลุดร่วง เนื่องจากได้รับวิตามินบางตัวไม่เพียงพอ เช่น ไบโอติน ไนอะซิน หรือวิตามินซี
- ไม่แนะนำในคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มคนพิเศษ
เนื่องจากการจำกัดและเพิ่มสารอาหารบางชนิด จะส่งผลต่อโรคหรือยาได้ เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ซึ่งการจำกัดอาหารอาจยิ่งส่งเสริมพฤติกรรมนั้นได้ รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เด็ก ที่ต้องการพลังงานสารอาหารให้ครบถ้วน ก็ไม่แนะนำให้กินรูปแบบนี้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุปคือการลดน้ำหนักในส่วนของอาหารก็มีจุดสำคัญแค่ การได้รับพลังงานที่น้อยลงจากเดิม ดังนั้น เราดูอาหารเป็นภาพรวมจะดีกว่า ไม่จำเป็นต้องงดคารโบไฮเดรต หรืองดสารอาหารใดสารอาหารหนึ่ง แต่เพียงแค่เลือกกินอาหารในมื้อนั้นให้สมดุล โดยที่เพิ่มปริมาณโปรตีนในมื้ออาหาร และลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลงสักนิด ระวังมันๆ ทอดๆ สักหน่อย เพิ่มผักให้มากขึ้น และกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน นั่นก็ถือว่าเป็นการกินเพื่อลดน้ำหนักที่ยังทำให้สุขภาพดีไปพร้อมกันอีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร
ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี
โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?
พร้อมรับคำปรึกษาจาก
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ
ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร
แหล่งอ้างอิง
Barber, T. M., Kabisch, S., Pfeiffer, A. F. H., & Weickert, M. O. (2020). The Health Benefits of Dietary Fibre. Nutrients, 12(10), 3209.
Lizzie Streit, MS, RDN, LD (2023). All You Need to Know About the Carnivore (All-Meat) Diet. Healthline [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.healthline.com/nutrition/carnivore-diet
Soenen S, Bonomi AG, Lemmens SG, et al. Relatively high-protein or ‘low-carb’ energy-restricted diets for body weight loss and body weight maintenance?. Physiol Behav. 2012;107(3):374-380.
Van Baak, M. A., & Mariman, E. C. M. (2019). Dietary Strategies for Weight Loss Maintenance. Nutrients, 11(8), 1916.