โรคไตเป็นอีกโรคที่มีความจำเป็นในการควบคุมอาหารเป็นอย่างมาก เพื่อลดของเสียที่ร่างกายจะได้รับและขับออกทางไต เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้สามารถทำงานอยู่กับเราได้นานมากขึ้น โดยสารอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตต้องให้ความสำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น วันนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่าเมื่อไหร่ที่คนป่วยโรคไตถึงมีความจำเป็นต้องลดโพแทสเซียมใน อาหารโรคไต
ผู้ป่วยโรคไต กับ โพแทสเซียมใน อาหารโรคไต
สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มักจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับระดับแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย เพราะไตมีการทำงานที่ผิดปกติไปจากเดิม ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการคลั่งของโพแทสเซียมในเลือด (Hyperkalemia) และจะเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อันตรายถึงชีวิต
- ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออัมพาต
ปกติเราจะได้รับโพแทสเซียมจากอาหารต่าง ๆ ซึ่งในอาหารแต่ละชนิดก็มักจะมีปริมาณโพแทสเซียมที่ต่างกัน โดยสามารถพบได้ทั้งในผักและผลไม้ แล้วเมื่อไหรที่ต้องลดโพแทสเซียมลงใน อาหารโรคไต เพื่อที่จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ข้างต้นนี้
เวลาที่ต้องลดโพแทสเซียมในอาหารสำหรับคนเป็นโรคไต
สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังควรควบคุมะดับโพแทสเซียมในเลือดอยู่ในช่วง 3.5 – 5.1 มิลลิโมลต่อลิตร สามารถรับโพแทสเซียมจากอาหารได้ในเกณฑ์ปกติ หรือ 3,500 มิลลิกรัม แต่เมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.1 มิลลิโมลต่อลิตรขึ้นไป จะต้องควบคุมระดับโพสแทสเซียมจากอาหารให้ไม่เกิน 1,500 – 2,000 มิลลิกรัม เพราะได้มีการศึกษาพบว่าการที่ผู้ป่วยมีระดับโพแทสเซียมสูงมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินของโรคและการตายของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่มีปัญหาของระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงยังสามารถกินอาหารที่มีโพแทสเซียมได้สูงสุด 3,500 มิลลิกรัม แต่ถ้ามีระดับโพแทสเซียมสูงกว่าเกณฑ์ หรือ ภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือดผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมอาหารให้ได้โพแทสเซียมไม่เกิน 1,500 – 2,000 มิลลิกรัม โดยโพแทสเซียมมักจะพบได้ในผักและผลไม้ จึงต้องเลือกชนิดของผักผลไม้ให้เหมาะสม โดยเราได้เขียนปริมาณโพแทสเซียมในผักและผลไม้แต่ละชนิดไว้ให้แล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไตคนไหนอยากรู้ถึงอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงและควรกินอย่างไร รวมถึงปรุงอาหารอย่างไรให้โพแทสเซียมลดลง ก็สามารถสอบถามนักกำหนดอาหารหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่ หรือให้เรานักกำหนดอาหารจากอีทเวลล์คอนเซปต์ช่วยดูแลอาหารและคุณได้ ที่นี่
ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการต่าง ๆ ก่อนใคร ที่นี่
เมื่อวานนี้ทานอะไร?
เล่าเรื่องราวของอาหารในมิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจและมีมากกว่าแค่ “น่ากิน”
อ้างอิง
- สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย , คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2558 ,เข้าถึงจาก http://doh.hpc.go.th/data/HL/CKD_2015.pdf
- ศิรินทร์ จิวากานนท์ และคณะ , คำแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561, เข้าถึงจาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJPEN/article/view/248367/168872
- Robert W Hunter, Matthew A Bailey, Hyperkalemia: pathophysiology, risk factors and consequences, Nephrology Dialysis Transplantation, Volume 34, Issue Supplement_3, December 2019, Pages iii2–iii11, https://doi.org/10.1093/ndt/gfz206
- Nakhoul, G. N., Huang, H., Arrigain, S., Jolly, S. E., Schold, J. D., Nally, J. V., Jr, & Navaneethan, S. D. (2015). Serum Potassium, End-Stage Renal Disease and Mortality in Chronic Kidney Disease. American journal of nephrology, 41(6), 456–463. https://doi.org/10.1159/000437151 Chen, Y., Sang, Y., Ballew, S. H., Tin, A., Chang, A. R., Matsushita, K., Coresh, J., Kalantar-Zadeh, K., Molnar, M. Z., & Grams, M. E. (2017). Race, Serum Potassium, and Associations With ESRD and Mortality. American journal of kidney diseases : the official journal of the National Kidney Foundation, 70(2), 244–251. https://doi.org/10.1053/j.ajkd.2017.01.044