ไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease, NAFLD) ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในปี พ.ศ.2561 มีผู้ที่มีภาวะตับแข็งทั้งจากแอลกอฮอล์และปัจจัยอื่น ๆ มากถึง 200,000 คน โดยปัญหาภาวะไขมันพอกตับนั้น มักพบควบคู่กับโรคเรื้อรังหรือปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น อ้วนลงพุง ภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยภาวะไขมันพอกตับนี้จะเกิดจากการสะสมของไขมันภายในเนื้อเยื่อตับทำให้เกิดการแข็งตัวจนก่อให้เกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ในที่สุด
สำหรับการดูแลหรือรักษาภาวะไขมันพอกตับนั้นจะให้ความสำคัญไปในด้านของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่ามีผลนั่นก็คือการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งในวันนี้ที่เราจะพูดถึงอย่างเจาะลึกคือการปรับโภชนาการ เปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร หรือ โภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ
ความสำคัญของสารอาหารหลักต่อภาวะ ไขมันพอกตับ
ถ้าพูดถึงสารอาหารหลัก ๆ ที่เราจะต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ซึ่งถือเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (Macronutrient) ซึ่งได้มีการศึกษาพบหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารอาหารเหล่านี้กับการเกิดโรคภาวะไขมันพอกตับ โดยพบว่า อาหารกลุ่มไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาลทราย และน้ำตาลฟรุกโตส มีความสัมพันธ์กับการเกิดไขมันพอกตับ นอกจากนั้นอาหารเหล่านี้จะส่งผลต่อระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและความสามารถในการทำงานของตับ เราลองไปเจาะลึกว่าสารอาหารแต่ละชนิดกันมีผลต่อตับของเราอย่างไรบ้าง
- ไขมัน
ไขมันจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (Monounsaturated fat) และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fat)
และชนิดของไขมันที่เป็นที่ถกเถียงในด้านสุขภาพมากที่สุด คือ “ไขมันอิ่มตัว” เพราะจากการศึกษาพบว่าการได้รับไขมันอิ่มตัวจากอาหารในปริมาณมากจะเพิ่มระดับไขมันภายในตับได้ โดยคาดว่าอาจเกิดจากการเพิ่มการสร้างไขมันปริมาณตับและเพิ่มการสลายไขมันจากกล้ามเนื้อนั่นเอง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีผลที่ชัดเจนว่าไขมันอิ่มตัวจากอาหารต่างชนิดกัน เช่น ไขมันอิ่มตัวจากเนื้อหมูเปรียบเทียบกับไขมันอิ่มตัวจากการดื่มนมวัว จะมีผลต่อการสะสมไขมันในตับแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
แต่ในทางกลับกัน ส่วนของไขมันไม่อิ่มตัว พบว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวมีส่วนช่วยในการลดการสลายไขมันจากกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการสะสมไขมันในตับได้อีกด้วย โดยการทดสอบการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง พบว่ามีส่วนช่วยในการดูแลภาวะไขมันพอกตับได้ ส่วนไขมันไม่อิ่มตัวหลายตัวแหน่ง พบว่าสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดีขึ้นทำให้ปัญหาต่อการดื้อต่ออินซูลินลดลง จึงมีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้นั่นเอง
- คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตถือเป็นสารอาหารหลักที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย แต่จากการศึกษาอันยาวนานพบว่าการบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวอย่างน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากโดยได้มีการศึกษาความสัมพันธ์ของคาร์โบไฮเดรตกับภาวะไขมันพอกตับ พบว่าการกินอาหารที่มีแหล่งของน้ำตาลเชิงเดี่ยว น้ำตาลฟรุกโตส น้ำตาลทราย และน้ำเชื่อมข้าวโพดนั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลฟรุกโตส เพราะน้ำตาลชนิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตับในปริมาณที่มากกว่าน้ำตาลชนิดอื่น ๆ และในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลชนิดนี้ จะก่อให้เกิดการสร้างไขมันภายในตับเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในด้านของใยอาหารที่ถือเป็นคาร์โบไฮเดรตอีกชนิดนั้น พบว่า การบริโภคใยอาหารที่น้อย จะส่งผลต่อการเกิดไขมันพอกตับในทางอ้อม เพราะการบริโภคใยอาหารที่น้อยจะส่งผลให้สมดุลจุลินทรีย์ภายในระบบย่อยอาหารของเราผิดปกติ และก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดการบาดเจ็บได้ โดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ก็ได้มีการศึกษาค้นพบแล้วเช่นเดียวกันว่าสามารถช่วยดูแลและบำรุงตับในผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับได้
- โปรตีน
โปรตีนจัดเป็นสารอาหารสำคัญที่ใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ ฮอร์โมน และสารสื่อประสาทต่าง ๆ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า โปรตีนมีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับอย่างไร เพราะมีปัจจัยที่หลากหลายอย่างมากไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของโปรตีน ได้แก่ โปรตีนจากพืช โปรตีนจากสัตว์ หรือแม้แต่ชนิดของอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนด้วย
นอกจากสารอาหารหลักทั้ง 3 ชนิดนี้ ก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวสารอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ให้พลังงาน (Micronutrient) ได้แก่ วิตามินและแร่ธาตุ เรามาดูกันว่าสารอาหารกลุ่มนี้ส่งผลหรือมีส่วนช่วยต่อภาวะไขมันพอกตับได้อย่างไรบ้าง
วิตามินและเกลือแร่มีผลต่อไขมันพอกตับอย่างไร
จากการศึกษาพบว่ามีแร่ธาตุหลายตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะไขมันพอกตับ ได้แก่ สังกะสี ทองแดง เหล็ก ซีเลเนียม และแมงกานีส และในส่วนของวิตามินก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ ซี ดี และอี ก็ล้วนแต่มีส่วนที่สำคัญต่อภาวะนี้ เพราะถือว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์จะมีระดับของแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นอยู่ในระดับต่ำ
แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับการเสริมวิตามินที่ละลายในไขมันอย่างวิตามินเอและอี ยังมีข้อสงสัยและข้อกำหนดในการใช้อยู่ เนื่องจากภายในเลือดของผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจะมีระดับวิตามินเหล่านี้ต่ำ ดังนั้นการเสริมวิตามินเหล่านี้จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ เช่น การเสริมวิตามินอี มีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดเลือดสมองบางชนิด ทำให้ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือคำแนะนำที่ชัดเจนในการเสริมวิตามินเหล่านี้
ดังนั้นการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับ อาจเสริมในลักษณะรวม ๆ กันหลากหลายชนิด โดยอาจจะต้องพิจารณาปฏิกิริยาหรือลักษณะการดูดซึมของสารอาหารเหล่านี้ประกอบด้วย แต่ทั้งนี้ ในแต่ละบุคคลก็อาจมีความแตกต่างกันออกไปจึงควรรับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกำหนดอาหารโดยตรงจะเหมาะสมกว่า
การกินอาหารเพื่อป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
สำหรับคำแนะนำในการกินอาหารสำหรับการป้องกันหรือบรรเทาภาวะไขมันพอกตับนั้น มีการศึกษาและค้นคว้าต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เห็นว่าการเลือกกินอาหารในรูปแบบต่าง ๆ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- การกินอาหารแบบเน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อเป็นการเสริมทั้งใยอาหารและแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือด ผ่านกลไกการยับยั้งการดูดซึมไขมันในระบบทางเดินอาหาร เสริมสร้างจุลินทรีย์ภายในทางเดินอาหารให้แข็งแรง รวมถึงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบที่อาจส่งผลต่อตับได้ ตามคำแนะนำก็ควรกินอาหารที่มีผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม รวมถึงเน้นเลือกแหล่งข้าวแป้งเป็นธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
- การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารบางชนิดที่มีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้ หากบริโภคในปริมาณหรือความถี่ที่มากเกินไป เช่น เนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะมีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล ที่อยู่ภายในเนื้อสัตว์ น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลฟรุกโตสที่มักอยู่ในส่วนประกอบของขนมและเครื่องดื่ม ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญซึ่งทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น รวมทั้งเกิดการสร้างและสะสมไขมันภายในตับอีกด้วย
- ควบคุมพลังงานที่ได้รับจากอาหาร เพราะการได้รับพลังงานเกินจากอาหารอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ โดยหากร่างกายได้รับพลังงานที่มากเกินความต้องการเป็นเวลานาน ๆ ร่างกายจะสะสมพลังงานเหล่านั้นไปอยู่ในรูปของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงตับอีกด้วย
ซึ่งหากจับหลักการกินอาหารที่จะช่วยลดหรือป้องกันการเกิดภาวะไขมันพอกตับมารวมกัน ก็จะสามารถแนะนำการกินอาหารแบบ DASH diet Mediterranean diet หรือแม้แต่ MIND diet ก็ได้เช่นกัน เพราะการกินอาหารทั้งสามรูปแบบนี้ จะเป็นการกินอาหารที่เน้นพืช ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี รวมถึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป ที่เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวรวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด ๆ ขนมต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้เลือกกินอาหารที่เป็นแหล่งของไขมันไม่อิ่มตัวที่มีผลดีต่อสุขภาพนั่นเอง เพียงเท่านี้การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
หรือถ้าผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับไม่รู้ว่าควรปรับโภชนาการอย่างไรให้เหมาะสม สามารถให้เรา Eatwellconcept ที่มีดูทีมนักกำหนดอาหารวิชาชีพช่วยดูแลทั้งตารางการกินอาหาร สัดส่วนอาหารที่เหมาะสม รวมถึงยังมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จะช่วยดูแลคุณเป็นพิเศษ
สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร
ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี
โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?
พร้อมรับคำปรึกษาจาก
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ
ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร
อ้างอิง
Ruangsawat ส. . ., Soivong . ป. ., & Suksatit เ. . (2020). Factors Related to Self-management Behaviors among Persons with Cirrhosis. Journal of Health and Nursing Research (Journal of Boromarajonani College of Nursing, Bangkok), 36(3), 123–134. Retrieved from https://he01.tci-thaijo.org/index.php/bcnbangkok/article/view/246882
Antunes C, Azadfard M, Hoilat GJ, et al. Fatty Liver. [Updated 2021 Feb 9]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441992/
Borghouts, L. B., & Keizer, H. A. (2000). Exercise and insulin sensitivity: a review. International journal of sports medicine, 21(1), 1–12. https://doi.org/10.1055/s-2000-8847
Jang, E. C., Jun, D. W., Lee, S. M., Cho, Y. K., & Ahn, S. B. (2018). Comparison of efficacy of low-carbohydrate and low-fat diet education programs in non-alcoholic fatty liver disease: A randomized controlled study. Hepatology research : the official journal of the Japan Society of Hepatology, 48(3), E22–E29. https://doi.org/10.1111/hepr.12918
Berná, G., & Romero-Gomez, M. (2020). The role of nutrition in non-alcoholic fatty liver disease: Pathophysiology and management. Liver international : official journal of the International Association for the Study of the Liver, 40 Suppl 1, 102–108. https://doi.org/10.1111/liv.14360