fbpx

ไขข้อข้องใจอาหารสำหรับ โรคมะเร็ง โดย นักกำหนดอาหาร

โรคมะเร็ง โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเจอ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจและกายของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทั้งผลข้างเคียงจากการรักษา การลุกลามของโรค รวมถึงการกินอาหารอีกด้วย ผู้ป่วยและญาติหลายรายมักเกิดความกังวลว่า เป็นมะเร็งแล้ว สามารถรับประทานอะไรได้บ้าง และอาหารอะไรบ้างที่ต้องหลีกเลี่ยง ในฐานะนักกำหนดอาหารที่ดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมาไขข้อข้องใจในเรื่องของการกินอาหารเมื่อป่วยเป็น โรคมะเร็ง

รู้จักกับ โรคมะเร็ง

มะเร็ง (cancer) เป็นกลุ่มโรคขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายมีการเจริญเติบโตผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ทำให้ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย ส่งผลให้ระบบอวัยวะทำงานล้มเหลว เกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต มะเร็งจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว การรักษาโรคขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของการที่ลุกลาม โดยการรักษาแต่ละรูปแบบก็ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพและร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วยอีกด้วย

เพราะเหตุใด โรคมะเร็ง ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร

ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของน้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากตัวโรคส่งผลให้ร่างกายมีการปรับตัวให้ใช้พลังงานมากขึ้น เปรียบเหมือนเชื้อเพลิงที่ถูกเร่งให้เผาไหม้อย่างรวดเร็ว หากมีเชื้อเพลิงหรือสารอาหารไม่เพียงพอ ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดอาหารได้ โดยปัญหาสำคัญทางโภชนาการที่ผู้ป่วย พบเจอทั้งจากตัวโรคและการรักษา ได้แก่

  • น้ำหนักลดลง
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • การรับกลิ่นรสเปลี่ยนไป
  • เคี้ยวกลืนลำบาก
  • การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก

อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้คือ “ความเชื่อและความเข้าใจผิดในเรื่องการกินอาหาร” ส่งผลให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหรือไม่กล้ากินอะไรเลย เพราะกลัวและกังวลว่าจะทำให้มะเร็งแย่ลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่พอ ร่างกายอ่อนแอลง เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และเสียชีวิตได้จากภาวะขาดสารอาหาร

สารอาหารที่ผู้ป่วย โรคมะเร็ง ควรได้รับ

ผู้ป่วยมะเร็งทุกรายควรได้รับการประเมินภาวะโภชนาการ คำนวณความต้องการสารอาหาร รวมถึงได้คำแนะนำว่าควรรับประทานอะไร จากทีมแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอ รวมถึงวางแผนการกินอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนอีกด้วย

โดยสารอาหารหลักที่ร่างกายต้องการมีดังต่อไปนี้

1. พลังงาน

พลังงาน เป็นสารอาหารที่ร่างกายได้รับจาก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยมี คำแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับพลังงานต่อวัน เท่ากับ 25 – 30 กิโลแคลอรี คูณด้วยน้ำหนักตัว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานพอและรักษาน้ำหนักตัวเอาไว้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยน้ำหนักลดหรือมีโรคขาดสารอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องได้พลังงานกว่าที่แนะนำ (ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหาร)

2. โปรตีน

โปรตีนมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะจะช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อ สร้างโปรตีนทั้งเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย คำแนะนำกำหนดให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนต่อวันมากกว่าคนปกติ ซึ่งเท่ากับ 1.0 – 1.5 กรัม คูณด้วยน้ำหนักตัว โดยควรได้รับโปรตีนคุณภาพดีที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เรื่องโปรตีน) เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ

3. วิตามินและแร่ธาตุ

วิตามินและแร่ธาตุ มีส่วนสำคัญในการช่วยนำสารอาหารในร่างกายไปใช้เป็นพลังงาน อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือด คำแนะนำระบุว่าผู้ป่วยควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากผักและผลไม้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากต้องการเสริมวิตามินและแร่ธาตุในรูปแบบเม็ด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อาหารสำหรับผู้ป่วย โรคมะเร็ง รู้ก่อน ดีกว่าเสมอ

แหล่งอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

  • เนื้อสัตว์ ได้แก่ หมู ไก่ ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู เป็นต้น
  • นม ได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต ชีส จากข้อมูลสนับสนุนว่า “การดื่มนมช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย  แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องเสียจากการดื่มนม อาจให้งดเว้นไปก่อนได้”
  • โปรตีนจากพืช ได้แก่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดธัญพืช
  • ข้าว แป้ง ขนมปัง และเส้น เน้นข้าวแป้งไม่ขัดสี เพื่อเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุ อีกทั้งมีข้อมูลสนับสนุนว่า ข้าวแป้งไม่ขัดสี มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย
  • ผัก และผลไม้ทุกชนิด (ล้างน้ำสะอาดหลายครั้งก่อนนำมาบริโภค)
  • น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
  • ไขมันชนิดดี ได้แก่ ปลาทะเล ถั่วลิสง อะโวคาโด อัลมอนต์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ เรื่อง ไขมัน)

แหล่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

  • อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่สะอาด ได้แก่ ปลาดิบ ซาชิมิ ยำกุ้งสด ส้มตำหอยแครง
  • อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง ได้แก่ ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ปลาเค็ม ปลาร้า
  • เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว ไส้กรอก แฮม กุนเชียง เบคอน ซาลามี่ เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
  • อาหารและขนมที่มีน้ำตาลสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีน้ำหนักเกินอยู่เดิม เนื่องจากมีสารอาหารปริมาณน้อย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลพบว่า แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวลดลง น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือเป็นผู้ป่วยสูงอายุ อาจไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดอาหารหรืองดอาหารชนิดใดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ป่วยกินอาหารได้น้อยอยู่แล้ว หากต้องงดหรือเว้นอาหาร จะยิ่งส่งผลให้ได้รับอาหารไม่เพียงพอมากขึ้น

โรคมะเร็ง vs สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและความเชื่อที่ต้องระวัง

ความเชื่อ อาหารมะเร็ง
ความเชื่อเรื่องอาหารของมะเร็ง

               จากกระแสตามสื่อโซเชียลที่มีการโฆษณาอาหารเสริม สมุนไพร กัญชา หรือ ยารักษา ที่ไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน มีการกล่าวอ้างว่าช่วยรักษามะเร็งให้หายขาดได้ จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งมาหลายราย พบว่าผู้ป่วยค่อนข้างได้รับข้อมูลในด้านนี้ค่อนข้างมาก ซึ่ง สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาบางชนิด นอกจากจะไม่มีผลต่อการรักษามะเร็งแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของผู้ป่วยเองได้ หากไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเสริมโดยไม่จำเป็น

เทคนิคการกินอาหารสำหรับผู้ป่วย โรคมะเร็ง ให้สารอาหารเพียงพอ

ในระหว่างการบำบัดและรักษาโรคมะเร็ง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกเบื่ออาหาร กินอาหารลดลง น้ำหนักตัวลดลง และอาจมีปัญหาการย่อยและดูดซึมได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งการมีเทคนิคการกินที่เหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยกินอาหารได้อย่างเพียงพอ และไม่ขาดสารอาหาร โดยผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถทำตามเทคนิคการกินฉบับง่าย ๆ ได้ ดังนี้

  1. แบ่งมื้ออาหารให้ได้ 3 มื้อต่อวัน เพื่อให้ผู้ป่วยกินได้มากขึ้น
  2. เลือกอาหารที่ผู้ป่วยชอบ และให้กินบ่อย ทุก 2-3 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้ท้องว่าง
  3. เลือกกินเมนูอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น เมนูข้าวผัด หรือผัดไทย เป็นต้น
  4. ปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศ และสมุนไพร ช่วยเพิ่มความอยากอาหารมากขึ้น
  5. เลือกเครื่องดื่มที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น ซุป สมูธตี้ปั่นใส่นม
  6. แนะนำให้ดื่มน้ำในช่วงมื้ออาหารว่างแทน เพื่อไม่ให้อิ่มแน่นในมื้อหลัก
  7. หากมีอาการเคี้ยว และกลืนลำบาก ควรดัดแปลงเนื้อสัมผัส และเลือกอาหารอ่อนนุ่มแทน
  8. หากยังกินอาหารปกติได้ไม่เพียงพอ สามารถเสริมอาหารทางการแพทย์ที่มีสารอาหารครบถ้วนเพื่อทดแทนได้ (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง อาหารทางการแพทย์)

สิ่งที่ควรติดตามเป็นประจำ

  • ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการรักษา
  • พบนักกำหนดอาหารเพื่อประเมินภาวะโภชนาการ ได้แก่ น้ำหนักตัว มวลกล้ามเนื้อ มวลไขมัน การบริโภคอาหาร เป็นต้น
  • ผลเลือด ได้แก่ ค่าเม็ดเลือด ค่าไต ค่าตับ โปรตีนในเลือด เกลือแร่ เป็นต้น
  • ติดตามและหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงจากการรักษา เพื่อหาแนวทางในการดูแล

สรุป

แม้มะเร็งจะเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยทั้งในเรื่องของร่างกายและจิตใจ แต่หากผู้ป่วยและญาติมีความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของการรักษา รวมไปถึงการดูแลในด้านอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี และมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคร้ายนี้ต่อไปได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องโภชนาการกับโรคมะเร็ง สามารถปรึกษากับนักกำหนดอาหารผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโภชนบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็งได้

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

References

  1. ESPEN practical guideline: Clinical Nutrition in cancer. Clinical Nutrition 40 (2021) 2898-2913. https://www.espen.org/files/ESPEN-Guidelines/ESPEN-practical-guideline-clinical-nutrition-in-cancer.pdf
  2. Cancer Prevention Recommendations. World Cancer Research Fund International. (2018). https://www.wcrf.org/wp-content/uploads/2021/01/Recommendations.pdfhttps://www.wcrf.org/wp-content/uploads/2021/01/Recommendations.pdf
  3. Eating Hints: Before, during, and after Cancer Treatment. (2018).  NIH Publication No.18-7157. https://www.cancer.gov/publications/patient-education/eatinghints.pdf
  4. Eating Well During Treatment. https://www.cancer.org/treatment/survivorship-during-and-after-treatment/staying-active/nutrition/once-treatment-starts.html
ส่งข้อความถึงเรา