fbpx

ผ่าตัดกระเพาะ…ดีจริงไหม เหมาะกับใคร? 

โรคอ้วน คือโรคชนิดหนึ่ง จากการศึกษา พ.ศ. 2552 พบว่า “ โรคอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงและภัยเงียบสำคัญ อันดับ 1 และอันดับ 6 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในหญิงไทย และชายไทย 

โรคอ้วน คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่นๆทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โดยรอบพุงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งอย่างน้อย 18 ชนิด  

ดังนั้นเราจึงควรลดน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคร้ายต่างๆที่เป็นภัยแฝงมากับโรคอ้วน แต่บางครั้งไม่ว่าจะพยายามควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายด้วยวิธีไหนก็ไม่เป็นผล ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มีวิธีการรักษาที่รวดเร็ว นั่นก็คือ การผ่าตัดกระเพาะอาหาร 

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery)  

คือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง หรือเพื่อลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน เพราะว่าในกระเพาะอาหารของเรามีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร เมื่อเราตัดลดขนาดกระเพาะลง ก็จะตัดส่วนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ออกไปส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง  

โดยการลดความอ้วนมีหลายวิธี ได้แก่ 

  1. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass ผ่าตัดสร้างถุงที่กระเพาะอาหารส่วนบน และตัดลำไส้เล็กที่อยู่ด้านล่างของกระเพาะอาหารนำมาเชื่อมต่อกับถุงที่สร้างไว้ ทำให้อาหารที่รับประทานจะถูกส่งไปยังลำไส้โดยตรง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น 
ที่มา https://hospital.uillinois.edu/primary-and-specialty-care/surgical-services/bariatric-surgery-program/our-services/roux-en-y-gastric-bypass-rygb
  1. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Laparoscopic Adjustable Gastric Banding (LAGB) นำห่วงที่ยืดหยุ่นได้ไปรัดกระเพาะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหารจึงลดลง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อยลงเพราะอิ่มเร็วขึ้น ห่วงนี้จะคงอยู่ได้อย่างถาวร โดยที่สามารถปรับขนาดและยืดขยายได้ในภายหลัง 
ที่มา https://hospital.uillinois.edu/primary-and-specialty-care/surgical-services/bariatric-surgery-program/our-services/laparoscopic-adjustable-band
  1. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Gastric Sleeve ผ่าตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ให้เหลือเพียงกระเพาะอาหารที่เล็กลง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะมีกระเพาะอาหารที่เล็กลง 
ที่มา https://hospital.uillinois.edu/primary-and-specialty-care/surgical-services/bariatric-surgery-program/our-services/sleeve-gastrectomy
  1. ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร แบบ Biliopancreatic Diversion with Duodenal Switch ผ่าตัดผนังกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก ให้มีเพียงกระเพาะอาหารบางส่วนที่ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยกระเพาะอาหารส่วนนี้จะถูกนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนบน ในขณะที่กระเพาะอาหารส่วนที่ถูกผ่าแยกออกไปจะถูกนำไปเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนล่าง เพื่อให้ยังคงมีกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้ส่วนนี้ 
ที่มา https://www.gbmc-jo.com/en/laparoscopic-biliopancreatic-diversionduodenal-switch-bpdds/

หากแต่การรักษาด้วยผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที การลดน้ำหนักด้วยการผ่าตัดวิธีนี้จะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าควรผ่าตัดหรือไม่ 

หลักเกณฑ์ผู้ที่สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหาร มีดังนี้ 

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี 
  1. ต้องเป็นโรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป ภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น โดยคำนวนดัชนีมวลกาย (BMI)

เนื่องจากหากไม่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดแล้วจะได้ผลไม่คุ้มกับความเสี่ยง 

เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (BMI) และการประเมินผล 

สูตร [ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) /ส่วนสูง (เมตร)]    

คำนวนดัชนีมวลกาย

ตัวอย่างการคำนวณ BMI 

นาย A อายุ 22 ปี มีน้ำหนักตัว 102 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร กับนางสาว B อายุ 30 ปี มีน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร ถามว่าใครมีค่าดัชนีมวลกายดีเหมาะสมกว่ากัน? 

นาย A :       BMI 102 กิโลกรัม / [(1.60 x 1.60) เมตร] = 39.84 อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วนอันตราย 

นางสาว B :  BMI 55 กิโลกรัม / [(1.55 x 1.55) เมตร] = 22.89  อยู่ในเกณฑ์ สมส่วน 

  1. ผู้ที่พยายามใช้วิธีการอื่นเพื่อลดน้ำหนักมาก่อนแล้วแต่ไม่สำเร็จ และสภาวะความอ้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินไม่สะดวก การลุกนั่งไม่คล่องตัว เป็นต้น 
  1. ผู้ที่ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดและไม่มีโรคทางจิตเวช 

การเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดผ่ากระเพาะอาหาร 

  1. ตรวจร่างกายโดยละเอียด ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารให้มั่นใจว่าไม่มีความผิดปกติใดๆของกระเพาะอาหาร และประเมินภาวะโรคที่มีความเสี่ยงก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น 
  1. งดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัด 4 สัปดาห์ 
  1. งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 6 – 8 ชั่วโมง ถ้าต้องทานยาให้เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง 
  1. ทดสอบสภาพจิตใจกับนักจิตวิทยาเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคทางจิตเวชสำคัญที่ห้ามการผ่าตัด และเตรียมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังผ่าตัด 
  1. เรียนรู้วิธีออกกำลังก่อนและหลังผ่าตัดอย่างถูกต้องกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 
  1. เตรียมความพร้อมด้านโภชนาการจากนักกำหนดอาหาร โดยจะมีประเมินและการปรับการรับประทานอาหารหลังทำการผ่าตัดเช่น การปรับพฤติกรรมกิน เคี้ยวให้ละเอียดขึ้น งดดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ฯลฯ 
  1. ผู้ป่วยจะได้รับยาฉีดป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันก่อนการผ่าตัดกระเพาะอาหาร 12 ชั่วโมง 

วิธีปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร 

  1. รับสารอาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือจนกว่าจะรับประทานอาหารเองได้ 
  1. ควบคุมอาหารตามที่นักกำหนดอาหารวางแผนและให้คำปรึกษาอย่างเคร่งครัด 
  1. สามารถเริ่มออกกำลังเบา ๆ ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 หลังการผ่าตัด และงดยกของหนัก 3 เดือน 
  1. พบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัดเพื่อตรวจร่างกาย 

การรับประทานอาหารหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

แบ่งออกตามช่วงระยะเวลาพักฟื้น ดังนี้ 

หลังผ่าตัดสัปดาห์แรก รับประทานได้เฉพาะอาหารเหลวครั้งละน้อย ๆ แต่ควรรับประทานให้บ่อยครั้ง 

  • หลังผ่าตัด 1 – 2 วัน ควรรับประทานอาหารเหลวใส(Clear liquid diet) มีลักษณะที่สามารถมองทะลุผ่านได้ ไม่มีกากใยอาหาร ปริมาณอาหารเหลวที่สามารถรับประทานได้ประมาณ 30 มิลลิลิตร หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง หรือจนรู้สึกแน่น แล้วให้หยุด เช่น 
    • ซุปใสต้มกระดูก หรือเนื้อสัตว์กรองกาก 
    • น้ำผลไม้เจือจางกรองกากออก 
    • น้ำซุปผักกรองกากออก 
  • หลังผ่าตัด 3 – 14 วัน ควรรับประทานอาหารเหลวข้น(Full liquid diet) มีลักษณะ ขุ่น โปรตีนสูง มีไขมันและน้ำตาลต่ำ แนะนำให้ทานครั้งละ 30 มิลลิลิตรหรือจนรู้สึกแน่น ให้หยุดจนหายแน่นแล้วค่อยรับประทานต่อ หรือรับประทานทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานมากเกินหรือจนอาเจียน เช่น 
    • นมพร่องมันเนย นมถั่วเหลือง(หวานน้อย ) 
    • โยเกิร์ต หรือซุปข้น(ไม่หวาน ) 
    • น้ำผลไม้สีเข้มมีกากใยได้บ้างเล็กน้อย 
    • พุดดิ้ง โปรตีนผงผสมน้ำ  
    • อาหารทางการแพทย์ สูตรโปรตีนสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index) เช่น Glucerna SR  Gen-DM และ Nutren balance  
  • หลังผ่าตัด 14 – 30 วัน ควรรับประทานอาหารเนื้อข้น(Puree) มีลักษณะบดๆเหลวๆ สามารถเคี้ยวหรือกลืนได้ง่าย หรืออาหารอ่อนค่อนเหลว มีโปรตีนสูง โดยการทานครั้งละ 90 – 100 มิลลิลิตรต่อมื้อ ควรกระจายเป็น 4 – 5 มื้อต่อวัน เนื่องจากผู้ป่วยมีกระเพาะอาหารที่เล็กลงไม่สามารถรับอาหารครั้งละมากๆได้ ซึ่งการรับประทานแบบนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น เช่น 
    • ซุปข้นใส่นมพร่องมันเนย เช่น ซุปฝักทอง ซุปข้นไก่ ฯลฯ 
    • อาหารปั่น (นำวัตถุดิบที่สุกแล้วมาปั่นผสมกัน) 
    • ไข่คน ไข่ตุ๋น เต้าหู้อ่อนนึ่งสุก  
    • โจ๊กเหลว 
  • หลังผ่าตัด 31 วันขึ้นไป สามารถรับประทานอาหารได้ปกติแต่ควรเน้นเป็นอาหารเคี้ยวง่าย กลืนง่ายและย่อยง่าย โดยอาจมีการผสมเนื้อบดหยาบ เนื้อปลานึ่ง หรือผักต้มก็ได้ หากร่างกายสามารถรับไหว จึงค่อยๆปรับไปสู่อาหารปกติได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะทานอาหารได้ประมาณ 100 – 150 มิลลิลิตรต่อมื้อ ควรทาน 3 มื้อต่อวัน เช่น 
    • เนื้อปลา 
    • ข้าวต้ม 
    • นมขาดมันเนย 
    • ผัก / ผลไม้เคี้ยวง่าย เช่น ฟักทองนึ่ง ผักต้ม แก้วมังกร กล้วย ฯลฯ 

สรุป 

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นวิธีการรักษาเพื่อลดน้ำหนักวิธีการหนึ่ง ซึ่งก่อนจะตัดสินใจทำควรที่จะศึกษาข้อมูลให้เข้าใจและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะต้องมีความเข้าใจการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัดทั้งระยะสั้นและระยะยาว เมื่อทำการผ่าตัดแล้วจะกินได้น้อยลง จากกินเป็นชามจะกลายเป็นว่ากินได้แค่ 3 – 4 ช้อน ต้องเลือกกิน เลือกดื่ม ต้องออกกำลังกาย ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะตลอดไป  

เมื่อน้ำหนักลดลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีโอกาสที่น้ำหนักตัวเพิ่มกลับขึ้นมา ซึ่งการผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นการลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้เห็นผลทันตา  ดังนั้น ‘การควบคุมพฤติกรรมหลังผ่าตัด’ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนประสบความสำเร็จ  ถ้าลดน้ำหนักโดยไม่ผ่าตัด ทำได้โดยควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง 

  1. ​​โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11. (n.d.). อาหารที่ควรรับประทานหลังจากผ่าตัดลดน้ำหนัก. Retrieved from https://www.chularat11.com/knowledge_detail.php?id=252 
  2. กรุงเทพธุรกิจ. (2021, March 04). โรคอ้วน ประตูสู่ โรคร้าย ภัยเงียบอันตรายต่อสุขภาพ. Retrieved from www.thaihealth.or.th: https://www.thaihealth.or.th/โรคอ้วน-ประตูสู่-โรคร้าย/ 
  3. พว.เพ็ญศิริ คงบัน, น. ย. (n.d.). การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด. Retrieved from https://secoms.medicine.psu.ac.th/Information1.php?S=38 
  4. โรงพยาบาลกรุงเทพ. (n.d.). เตรียมตัวก่อนและหลังผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน. Retrieved from https://www.bangkokhospital.com/content/preparation-bariatric-surgery 

​​ 

ส่งข้อความถึงเรา