fbpx

อาหารที่ควรกิน หลัง ผ่าตัดลำไส้

การพักฟื้นนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ ซึ่งระยะเวลาที่ต้องใช้ในการพักฟื้นเพื่อกลับคืนสู่สภาพปกติจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของการผ่าตัดและสภาพร่างกายของบุคคลนั้น ๆ โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ต้องการอาหารที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วย ผ่าตัดลำไส้

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ออกไป อาจเกิดอาการปวดเกร็งช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วย หรือที่เรียกว่า ดัมปิ้ง ซินโดรม (Dumping Syndrome) ซึ่งเกิดจากการที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป มักพบในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ดังนั้นผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้จึงควรได้รับการดูแลอาหารเป็นพิเศษ ดังนี้

1.อาหารหนึ่งถึงสองมื้อแรกหลังการผ่าตัดลำไส้จะเป็นอาหารเหลวใส ระหว่างเวลานี้ผู้ป่วยจะถูกจำกัดอาหารและมีการจำกัดน้ำ เนื่องจากลำไส้ต้องการระยะเวลาในการฟื้นฟู หากรับประทานอาหารทางปากได้แล้ว ก็ต้องค่อยๆ เริ่มจากอาหารเหลว เช่น น้ำหวาน น้ำสมุนไพร น้ำซุปใส น้ำผลไม้กรองกาก ไปสู่อาหารที่มีเนื้อสัมผัสมากขึ้น จนสามารถกลับมารับประทานได้อย่างปกติ  ซึ่งควรที่จะเลือกกินตามที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้ เพราะเป็นการจัดตามคำสั่งของแพทย์

2.กินอาหารปริมาณครั้งละน้อย แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆหลายๆมื้อ กินให้บ่อยขึ้นทุก 2-3 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยวันละ 4-6 มื้อ หรือ เสริมอาหารมื้อว่าง  เพื่อให้ร่างกายได้พลังงานเพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยหลังผ่าตัดมักมีภาวะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน

3.เลือกกินอาหารอ่อนเป็นระยะเวลา 2-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัดลำไส้ คืออาหารที่ผ่านการสับ บด หั่น ปั่น หรือปรุงให้มีลักษณะอ่อนนิ่ม เพื่อให้เคี้ยวหรือกลืนง่ายและดีต่อระบบย่อยอาหาร จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ รวมถึงลดการเกิดแก๊สในกระเพาะและลำไส้

4.ควรใช้วิธีปรุงอาหารด้วยการตุ๋น นึ่ง ต้ม อบ แทนการปิ้งหรือย่าง เพื่อให้อาหารย่อยง่าย เช่น ปลานึ่งซีอิ๊ว อกไก่อบ กะหล่ำปลีตุ๋นเห็ดหอม ไข่ตุ๋น ฯลฯ อาจยกตัวอย่างเมนู หรือ ว่าอ้างอิงบทความ Soft diet ของเรา

5.ตัดแบ่งอาหารเป็นชิ้นหรือคำเล็ก ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและกินอย่างช้า ๆ

6.ควรดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

7.หลังการผ่าตัดลำไส้ 8 สัปดาห์ เริ่มทดลองกินอาหารปกติ โดยเพิ่มอาหารทีละชนิดในปริมาณละน้อย ๆ ก่อน แล้วสังเกตอาการที่ผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องผูก เป็นต้น หากไม่มีอาการอะไรเลยก็สามารถกลับมากินอาหารได้ปกติ

อาหารแนะนำหลัง ผ่าตัดลำไส้

อาหารแนะนำหลังผ่าตัดลำไส้-EWC
อาหารที่แนะนำหลังผ่าตัดลำไส้
  • ปลา

เนื้อปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดีและมีไขมันต่ำ ลักษณะเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม นำมาทำเป็นอาหารอ่อนโดยนำมาปรุงด้วยวิธีต้มหรือนึ่งจนนิ่ม เช่น โจ๊กปลา ข้าวต้มปลา ปลานึ่งซีอิ๊ว ฯลฯ เหมาะสำหรับเป็นอาหารหลังการผ่าตัดลำไส้ เนื่องจากโปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อ ในทางกลับกันหากร่างกายขาดโปรตีน ก็จะติดเชื้อได้ง่าย แต่ต้องระวังส่วนของก้างปลา เพื่อป้องกันอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร

  • ไข่

ไข่มีโปรตีนสูงให้กรดอะมิโนครบถ้วน เป็นสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ ซึ่งควรกินไข่ในเมนูอาหารอ่อนเพื่อให้ร่างกายย่อยง่าย เนื่องจากหลังผ่าตัดลำไส้ออกไป ในตอนแรกระบบย่อยอาหารจะยังไม่สมบูรณ์ ไข่สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ตุ๋น ไข่ต้ม แกงจืดไข่น้ำ โจ๊กไข่ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามหนึ่งในความเชื่อของคนไทย คือ หลังผ่าตัด ‘ห้ามกินไข่’ เพราะจะทำให้เกิดแผลเป็นนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’ รอยแผลนูนที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) ซึ่งมีลักษณะเป็น แผลแข็งๆนูนๆ ผิวมันๆสีออกแดงหรือชมพู ซึ่งสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย สาเหตุของการมาจากการสร้างคอลลาเจนที่มากเกินไปเพื่อสมานแผล จนกลายเป็นแผลนูนขึ้นมา ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เกี่ยวกับการกินไข่ ดังนั้นคนที่กลัวแผลเป็นหลังผ่าตัด สามารถกินไข่ได้โดยไม่ต้องกังวล

  • นมจืดขาดมันเนย

นมวัวอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นโปรตีนสูงที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายแล้ว แคลเซียมสูงซึ่งสามารถทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น โดยการได้รับแคลเซียมที่มากพอจากอาหารหลังผ่าตัดสามารถช่วยในการลดความเสี่ยงต่อภาวะการกระทบกระเทือนของบาดแผลผ่าตัด และมีไขมันต่ำ ร่างกายจะย่อยง่าย กินแล้วสบายท้อง ซึ่งในหนึ่งวันไม่ควรดื่มนมเกิน 2 แก้ว หากดื่มมากเกินไปอาจจะเกิดแก๊สสะสมในลำไส้ได้

  • เต้าหู้

เต้าหู้เป็นอาหารที่ทำมาจากน้ำนมถั่วเหลือง มีลักษณะเป็นก้อนนิ่มๆสีขาวที่ย่อยง่าย เต้าหู้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะโปรตีนและธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่คอยลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงบาดแผล และมีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การสูญเสียธาตุเหล็กอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

  • ธัญพืชขัดสี

ธัญพืชขัดสี คือ เมล็ดพืชที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อขจัดเปลือกที่เป็นส่วนที่หยาบและมีเส้นใยสูง ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่นุ่ม เช่น ข้าวขาว ขนมปังสีขาว ฯลฯ เนื่องจากเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใยต่ำ (Low residue diet) ซึ่งทำให้ระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนัก และช่วยลดความระคายเคืองในลำไส้ ลดการเกิดอาการท้องอืด

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหลัง ผ่าตัดลำไส้ 

             สิ่งที่สำคัญสำหรับอาหารผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ คือ อาหารที่สุกและสะอาด เพราะร่างกายของผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้องการเวลาในการฟื้นตัว อาหารสุกๆดิบๆและไม่ถูกหลักอนามัยอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน จะยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ดังต่อไปนี้

  • ถั่ว

ถั่วในที่นี้หมายถึงถั่วทุกชนิด ทั้งถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์, วอลนัท, ฮาเซลนัท, ฯลฯ) และถั่วเมล็ดแห้งที่เตรียมเป็นเมล็ด ๆ เช่น ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแดง, ฯลฯ  เนื่องจากถั่วมีเส้นใยสูง หากรับประทานมากในช่วงแรก อาจะทำให้ผู้ป่วยที่พึ่งผ่าตัดลำไส้ ระบบการย่อยอาหารจะยังไม่ค่อยดี ใยอาหารที่มากเกินไปจะสะสมจนทำให้เกิดแก๊ส ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการแน่นท้องและท้องอืดได้

  • น้ำอัดลม

ปกติแล้วในน้ำอัดลมจะมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งคาเฟอีนเป็นตัวกระตุ้นทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัว ส่วนน้ำตาลและสารทดแทนความหวานในเครื่องดื่มอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ และลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ นอกจากนี้น้ำตาลในน้ำอัดลมที่ดูดซึมในลำไส้เล็กได้ไม่หมดจะทำให้แบคทีเรียในลำไส้สร้างแก๊สขึ้น เมื่อรวมกับแก๊สในน้ำอัดลมทำให้สร้างความระคายเคืองให้แก่ลำไส้ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อตามมา

  • ผักสด

ผักสด มีใยอาหารสูงซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ที่การย่อยไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะผักสดที่ไม่ผ่านความร้อนในการปรุงอาหารอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ แต่ผักก็เป็นอาหารที่ควรกิน เนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเส้นใยชนิดละลายน้ำได้จะช่วยลดอาการท้องเสีย ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเลือกกินผักที่มีเส้นใยต่ำ(มีใยอาหารน้อยกว่า 2 กรัม ต่อทัพพี) เช่น ผักกาดขาว, ผักกาดหอม,ถั่วงอก, หัวไชเท้า, ฟักทองปอกเปลือก ฯลฯ ควรปรุงให้สุกและนิ่ม เพื่อง่ายต่อการย่อย โดยแนะนำไม่ควรบริโภคผักเกิน 1 ทัพพีต่อวัน

  • เนื้อสัตว์แปรรูป

เนื้อสัตว์แปรรูป คือเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมัก บ่ม รมควัน หรือการเติมเกลือและเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติและอายุการเก็บรักษา ได้แก่ ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน หมูยอ แฮม ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ไขมันจะทำให้อุดตันในทางเดินอาหาร จนเกิดแก๊สในลำไส้ ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องผูกได้

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และจะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ เนื่องจากผู้ป่วยหลังผ่าตัดลำไส้ ควรที่จะดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อย วันละ 6 – 8 แก้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำและช่วยให้ระบายลำไส้ไม่ให้เกิดการอุดตัน

อาหารควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดลำไส้-EWC

การผ่าตัดลำไส้จะส่งผลให้ระบบย่อยอาหารบางส่วนได้รับความเสียหายและทำงานไม่สมบูรณ์ ในช่วงแรกควรรับประทานอาหารเหลวเพื่อให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้ง่าย จากนั้นลองสังเกตและติดตามอาการเพื่อประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยในการจัดอาหารมื้อถัดไป

สรุป

อาหารหลังการ ผ่าตัดลำไส้ จะเริ่มตั้งแต่อาหารเหลวใสไปจนอาหารปกติ โดยในช่วง 2-8 สัปดาห์แรกเน้นจัดอาหารเป็นอาหารอ่อน ให้มีสารอาหารโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และมีใยอาหารต่ำ ซึ่งอาหารเหล่านี้ร่างกายจะสามารถย่อยได้ง่าย และมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูแผลผ่าตัด ในขณะเดียวกันอาหารที่มีเส้นใยสูง ไขมันสูง น้ำตาลสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ลำไส้เกิดอาการระคายเคือง เช่น ท้องเสีย ท้องอืด จุกเสียด คลื่นไส้ เป็นต้น

หากสังเกตพบว่าผู้ป่วยไม่อยากอาหาร มีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักตัวลดลง ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะทุพโภชนาการและการขาดสารอาหารของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดลำไส้ นอกจากนี้ควรให้ผู้ป่วยพยายามเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการฝึกลุกจากเตียงลงมายืนทรงตัว และลองเดินเป็นระยะทางสั้น ๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหวมากขึ้น

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • MD Jabeen Begum. (2023 สิงหาคม 2023). 10 Things Not to Eat After Bowel Resection. เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com/cancer/ss/slideshow-diet-bowel-resection
  • Milton Keynes University Hospital. (ม.ป.ป.). Eating and Drinking After Bowel Surgery. เข้าถึงได้จาก https://www.mkuh.nhs.uk/patient-information-leaflet/light-diet
  • MPH, RD Suzanne Dixon. (8 เมษายน 2023). What to Eat After Colon Resection or Removal. เข้าถึงได้จาก https://www.verywellhealth.com/colectomy-postsurgery-diet-instructions-797405
  • Oregon surgical specialists. (2023). Soft Diet after Colon Resection.
  • PhD Atli Arnarson BSc. (23 กุมภาพันธ์ 2023). Top 20 Foods High in Soluble Fiber. เข้าถึงได้จาก https://www.healthline.com/nutrition/foods-high-in-soluble-fiber
  • RDN and Kelli Gibbs, RDN Emily Haller. (2017). What Should I Eat After My Colon. Michigan Medicine University of Michican.
  • Thayaalini Subramaniam. (2021). The Role of Calcium in Wound Healing. Int J Mol Sci., 22(12): 6486.
  • ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย. (18 มีนาคม 2019). การดูแลผู้ป่วยที่ผ่าตัดลำไส้. เข้าถึงได้จาก https://www.siamca.com/article/detail/560
  • ญาณิศา พุ่มสุทัศน์. (ม.ป.ป.). อาหารสำหรับโรคลำไส้อุดตัน. เข้าถึงได้จาก GoodHope: https://goodhopenutrition.com/articles/กินอย่างไร-เมื่อลำไส้อุดตัน/
  • กันยายน 2023). อาหารช่วยเร่งการฟื้นฟูร่างกาย หลังผ่าตัด. เข้าถึงได้จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-ศัลยกรรม-ผ่าตัดแผลเล็ก/อาหารช่วยเร่งการฟื้นฟูร่างกาย-หลังผ่าตัด
  • โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน. (21 เมษายน 2022). อาหารแสลงกับการผ่าตัด…เรื่องที่เราสับสนกันมานาน. เข้าถึงได้จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/Food-exercise/อาหารแสลงกับการผ่าตัด…เรื่องที่เราสับสนกันมานาน
  • ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลสุขุมวิท. (ม.ป.ป.). คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้อง (COLOSTOMY). เข้าถึงได้จาก https://www.sukumvithospital.com/healthcontent.php?id=81
ส่งข้อความถึงเรา