fbpx

เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นบะหมี่ วุ้นเส้น กินอันไหนดีสุด

          เส้นก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารประเภทเส้นต่าง ๆ นับเป็นอาหารที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ถ้าให้ไล่ไปถึงประวัติศาสตร์คงต้องพูดกันยาว แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงสารอาหาร ประโยชน์และความเหมาะสมในการเลือกบริโภคอาหารกลุ่มเส้นที่แตกต่างกันเหล่านี้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เปรียบเทียบสารอาหารจากเส้นต่างๆ

เส้นก๋วยเตี๋ยว

          ได้แก่ เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ขาว วุ้นเส้น บะหมี่และเส้นก๋วยจั๊บ เส้นเหล่านี้กลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก คือ เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ขาวและเส้นก๋วยจั๊บ เนื่องจากทำจากแป้งข้าวเจ้าล้วน ๆ จึงทำให้สารอาหารที่ได้รับจากการบริโภคใกล้เคียงกัน คือ เส้นที่ลวกสุกแล้วประมาณ 80-90 กรัม (เทียบเท่า เส้นที่ม้วน ๆ ไว้บนทัพพี 1 ทัพพีพูนนิดๆ) จะให้คาร์โบไฮเดรต 18 กรัมและโปรตีน 2 กรัม เส้นกลุ่มนี้จะมีความเหมาะกับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงโปรตีนกลูเต็น (Gluten) เช่น ผู้ป่วย Celiac disease (พบได้น้อยในคนไทย) เนื่องจากแป้งข้าวเจ้าจะถือเป็นแป้งปลอดกลูเต็น

เส้นก๋วยเตี๋ยว-EWC

เส้นบะหมี่

          ส่วนเส้นบะหมี่นั้น จะผลิตจากแป้งสาลีและมีส่วนผสมของไข่อยู่ด้วย ทำให้ปริมาณโปรตีนสูงขึ้นมาเล็กน้อย น้ำหนักของเส้นสุก 70 กรัม (1 ทัพพี) จึงให้สารอาหารเป็นคาร์โบไฮเดรต 17 กรัมและโปรตีน 3 กรัม (แตกต่างจากเส้นข้าวเจ้านิดเดียว) และด้วยกระบวนการผลิตนั้น จะทำให้มีฟอสเฟตเพิ่มเข้ามา สำหรับผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเส้นบะหมี่ หรือบริโภคแต่น้อยจะดีต่อการควบคุมสารอาหารสำหรับตัวโรคมากกว่า

เส้นบะหมี่-EWC

วุ้นเส้น

          วุ้นเส้น เมื่อลวกสุกแล้วน้ำหนัก 100 กรัม (1 ทัพพีพูน) จะให้คาร์โบไฮเดรต 18 กรัม โดยไม่ให้โปรตีนเลย เพราะมีแตกต่างจากกลุ่มเส้นก่อนหน้า เนื่องจากผลิตจากถั่วเขียว และสกัดโปรตีนออกทั้งหมด ทำให้วุ้นเส้นถูกจัดเป็นแป้ง (เส้น) ปลอดโปรตีน และมีความเหมาะสมในการนำมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องควบคุมปริมาณโปรตีนในแต่ละวัน เพื่อชะลอความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง อีกทั้งบางคนยังรู้สึกว่าบริโภควุ้นเส้นแล้วอิ่มไวกว่าเส้นประเภทอื่นๆ เนื่องจากวุ้นเส้นอุ้มน้ำไว้ได้ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้นิยมในหมู่ผู้ควบคุมอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก

วุ้นเส้น-EWC

          จะเห็นได้ว่าอาหารกลุ่มเส้นที่กล่าวมานั้นมีความแตกต่างกันในด้านของคุณสมบัติ เราสามารถเลือกบริโภคได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละคน จากนี้เราจะพูดถึงอาหารเส้นประเภทอื่นๆ อีก เพื่อให้เป็นแนวทางนำไปเลือกบริโภคได้

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • รายการอาหารแลกเปลี่ยนไทย รวบรวมและจัดทำโดย คณะกรรมการชมรมนักกำหนดอาหารและคณะกรรมการโภชนาการชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน, 2542
  • Nutrient Data Base. U.S. Department of Agriculture
ส่งข้อความถึงเรา