fbpx

ลดน้ำหนักยังไง ไม่ให้ โยโย่ เอฟเฟกต์ โดยนักกำหนดอาหาร

‘น้ำหนัก’ คือตัวเลขที่ใครหลายคนกังวล ถ้าหากมัน มาก เกินไป เราจึงต้องการที่จะ ลด ให้น้อยลงมา เคยไหมเมื่อเรากำลังไดเอต ในช่วงแรกน้ำหนักลดลงอย่างน่าประทับใจ แต่จนถึงจุดหนึ่ง น้ำหนักกลับดีดขึ้นสูงและ ลดน้ำหนักไม่ได้ หรือ ผอมได้ไม่นานแต่ทำไมถึงกลับไปอ้วนอีก? ถ้าหากคุณมีอาการลักษณะนี้…เราต้องบอกคุณว่านี่คือสัญญาณอันตรายของการลดน้ำหนักผิดวิธี ซึ่งร่างกายของคุณกำลังเผชิญกับปัญหา โยโย่ เอฟเฟกต์ (Yo – Yo Effect)

โยโย่ เอฟเฟกต์ (Yo – Yo Effect) คือ ?

สภาวะที่น้ำหนักตัวมีการผันผวน เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ คล้ายกับการเล่นลูกข่าง หรือ ลูกโยโย่ เมื่อเราโยนลูกโย่โย่ออกไป ลูกโยโย่จะตกลงตามแรงโน้มถ่วง(น้ำหนักลดลง) แล้วแรงดึงจากปลายสายเชือกทำให้ลูกโยโย่ดีดตัวกลับขึ้นมา(น้ำหนักเพิ่มขึ้น) ส่วนวิธีการเล่นลูกโยโย่ เปรียบเสมือนเป็นวิธีการลดน้ำหนัก ยิ่งเราใช้แรงมากลูกโย่โย่ก็จะหมุนตกลงเร็ว ขณะเดียวกันแรงในการดีดกลับขึ้นมาก็แรง เราจึงเรียกการเหวี่ยงตัวขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างผิดปกติหลังลดน้ำหนักว่า…โยโย่เอฟเฟกต์

YoYo Effect

เพราะเราลดน้ำหนัก ‘ผิด’ วิธี จึงเกิด ‘โยโย่ เอฟเฟกต์’

โยโย่เอฟเฟกต์ เกิดจาก ?

1.พฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือ การอดอาหาร หรือ การกินอาหารไม่เป็นเวลา

ปกติแล้วเซลล์ไขมัน (Fat cell) จะสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่าเลปติน (Leptin) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณให้สมองรับรู้ว่าร่างกายมีไขมันสะสมเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นเมื่อเราน้ำหนักลง

เซลล์ไขมันลดลง → ฮอร์โมนเลปตินลดลง →ร่างกายรู้สึกหิวเพิ่มขึ้น ↑ + การเผาผลาญลดลง ↓

ฉะนั้นถ้าหากเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กลับไปกินอาหารเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ก็จะทำให้ร่างกายเผาผลาญไม่ทัน และพลังงานที่เกินก็จะถูกนำมาสะสมในรูปแบบของเซลล์ไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่นหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา ทำให้ ‘อ้วน’ ขึ้นมากกว่าเดิม

2. การออกกำลังกายที่มากเกินไป

การออกกำลังกายสัมพันธ์โดยตรงกับระบบเผาผลาญ แต่ถ้าหากออกกำลังกายหักโหม คือ ใช้พลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ จะทำให้ระบบเผาผลาญถูกกระตุ้นดึงพลังงานออกไปใช้มากเกินความจำเป็น เมื่อรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะดึงพลังงานจากมวลกล้ามเนื้อออกมาใช้ และจะเก็บสะสมพลังงานในรูปของมวลไขมัน

3. กินยาลดความอ้วน

ยาลดน้ำหนักจะมีฤทธิ์กดความรู้สึกหิว ช่วยให้รู้สึกอิ่ม เกิดอาหารเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อย นั่นคือจะทำให้ร่างกายกินอาหารน้อยกว่าความต้องการพลังงาน ซึ่งผลลัพธ์ก็จะไม่ต่างกับการลดน้ำหนักโดยวิธีอดอาหาร

ถึงแม้ว่าหยุดยาและกลับมากินอาหารปกติ หรือกินในปริมาณน้อยกว่าเดิมจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะระบบการเผาผลาญปรับสมดุลไม่ทัน

4.ปรับพฤติกรรมอย่างกะทันหันเกินไป

การลดน้ำหนักก็คือ การปรับเปลี่ยนนิสัยการกินและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ซึ่งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตถือว่าเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติจริง หลาย ๆ คนอาจจะล้มเลิกกลางทาง จากที่น้ำหนักกำลังลดลง แต่ดันกลับมากินเหมือนเดิมน้ำหนักจึงกลับมาเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมกลายเป็นโยโย่ เอฟเฟกต์

อาการแบบนี้…นี่แหละคือ โยโย่ เอฟเฟกต์ !

  • น้ำหนักตัวไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะออกกำลังกายอย่างหนัก
  • รู้สึกหิวตลอดเวลา โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง ขนมปัง ขนมหวาน น้ำหวาน
  • นอนไม่หลับ วิตกกังวล เหนื่อยเร็ว หากต้องออกแรงก็จะรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย

โยโย่ เอฟเฟกต์ตัวร้ายส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายด้าน

  • ฮอร์โมนเสียสมดุล

ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) คือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมความหิว ถ้าหากร่างกายตกอยู่ในสภาวะโยโย่ เอฟเฟกต์ จะทำให้ความรู้สึกหิวมากกว่าเดิมผิดปกติ และกินอาหารมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักขึ้นตามมา

  • มวลไขมันเพิ่มขึ้น แต่มวลกล้ามเนื้อลดลง

เมื่อเราอยู่ในสภาวะอดอาหาร กลไกในการมีชีวิตรอดจะกระตุ้นให้ร่างกายปรับการเผาผลาญให้ลดลง ดึงสลายมวลกล้ามเนื้อเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน กักเก็บไขมันในร่างกายเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรอง และทำให้อ้วนขึ้น

  • สูญเสียความมั่นใจและโรคซึมเศร้า

‘รูปลักษณ์’ และ ‘ขนาดตัว’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคนเรา ขนาดตัวที่ใหญ่ทำให้ร่างกายของเรารู้สึกหนัก ทำอะไรก็ไม่คล่องแคล่ว และจะส่งผลสภาพจิตใจ ทำให้หดหู่ รู้สึกขี้เกียจ ที่ร้ายที่สุดอาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า

  • อาจทำให้โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder : BED) ตามมา

เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติ ไม่สามารถคุมตัวเองได้ ไม่หิวก็ยังรู้สึกอยากจะกิน

โยโย่ เอฟเฟกต์แก้ได้ ง่ายนิดเดียว

1.ปรับแก้ที่พฤติกรรมตนเองเป็นหลัก “ลด – ละ – เลิก”

ลด : อาหารมัน และอาหารรสหวาน

  • อาหารมัน คือ อาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ ของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด กะทิ ชีส เนย มาการีน ครีม หนังหมู เป็นต้น
  • อาหารรสหวาน คืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ชานมไข่มุก คุกกี้ ไอศกรีม ลูกอม เป็นต้น

ละ : กิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ เคลื่อนไหวน้อย เช่น การนอนดูทีวี การเล่นเกมหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ฯลฯ

เลิก : การอดอาหาร ควรกินอาหารให้เหมาะสมกับพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยปรึกษานักกำหนดอาหาร

2. กำหนดเป้าหมายที่ทำได้จริง

เบื้องต้นแนะนำให้กำหนดเป้าหมายด้วยวิธี Focus on the First 5% to 10% of Body weight หรือก็คือ การกำหนดเป้าหมายลดน้ำหนักในระยะแรกเริ่มที่ 5% ของน้ำหนักตัว จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นไปตามขั้นบันไดจนถึง 10% ของน้ำหนักตัว

ตัวอย่าง: นางสาว A อายุ 28 ปี น้ำหนักตัว 95 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร

เป้าหมายน้ำหนักที่ควรลดระยะแรกของนางสาว A = 5 กิโลกรัม

การที่เราค่อยๆ มุ่งสู่เป้าหมายคล้ายกับการขึ้นบันไดทีละขั้น จะทำให้จิตใจของเรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จและไม่รู้สึกท้อแท้จนล้มเลิกกลางทาง

3. ห้ามอดอาหาร โดยเฉพาะมื้อเช้า

คำพูดที่ว่า ‘มื้อเช้าคือมื้ออาหารที่สำคัญ’ นั้นคือความจริง เพราะระหว่างที่เรานอนหลับร่างกายกำลังอยู่ในระยะอดอาหาร (Fasting) หากมื้อเช้าเรายังไม่กินข้าวเพื่อหาพลังงานเติมให้กับร่างกาย เมื่อตอนนั้นร่างกายก็จะต้องดึงพลังงานจากมวลกล้ามเนื้อมาใช้ และจะทำให้เรารู้สึกหิวมากขึ้น จนกินอาหารมากกว่าปกติ

“กินอาหารให้ครบทุกมื้อ ตรงเวลาและปริมาณที่เหมาะสม”

4. การเลือกรับประทานอาหาร

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่สูง และมีสารอาหารน้อย (Empty calories)  เช่น น้ำหวาน ชาหวาน ชานมไช่มุก  อาหารฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ ของทอด ขนมหวาน ไส้กรอก แฮม กุนเชียง เป็นต้น

เลือกกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ปลา ไข่ เต้าหู้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้

5. การพักผ่อนและการนอนหลับ

ระบบการเผาผลาญมีความเกี่ยวข้องกับความเครียดและการนอนหลับ เพราะฉะนั้นร่างกายควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอด้วยการนอนหลับอย่างน้อย 6-10 ชั่วโมงต่อวัน หรือทำกิจกรรมนันทนาการหรืองานอดิเรกที่ตนเองชอบ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นกีฬา เพื่อเป็นการผ่อนคลาย

แนวทางการลดน้ำหนัก ไม่ให้เกิดโย่โย่ เอฟเฟกต์

1.การกำหนดเป้าหมายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เราควรตั้งเป้าหมายในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง เพราะการลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องของการอดอาหาร แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ‘เรากำลังกินอะไร’ แต่ละวัน ‘เรามีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากเท่าไร’ รวมถึงนิสัยการนอนและความเครียดล้วนมีผลต่อน้ำหนักตัว

เคล็ดลับ: อย่าใจร้อน เพราะการลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องที่สามารถเห็นผลทันตา จะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอและค่อยเป็นค่อยไป

2. กินอาหารที่มีโภชนาการที่ครบถ้วนและสุขภาพดี

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่สูง และมีสารอาหารน้อย (Empty calories)  เช่น น้ำหวาน ชาหวาน ชานมไช่มุก  อาหารฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ ของทอด ขนมหวาน ไส้กรอก แฮม กุนเชียง เป็นต้น

เลือกกินอาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารที่ให้เส้นใยสูง

  • อาหารไขมันต่ำ  คือ อาหารที่มีสัดส่วนไขมันไม่เกิน 3 กรัม/100 แคลอรี่ เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ขาว ถั่ว อกไก่ เต้าหู้ ฯลฯ
  • อาหารโปรตีนสูง ช่วยลดความรู้สึกหิว และช่วยทำให้ไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เช่น ไข่ นม ปลา เต้าหู้   เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ฯลฯ
  • อาหารเส้นใยสูง ช่วยให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม อีกทั้งเส้นใยยังช่วยการชะลอการดูดซึมของน้ำตาลและไขมันคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbs)  คืออาหารจำพวกแป้งและเส้นใยอาหาร เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี มันเผา ฟักทอง ผัก ผลไม้ ฯลฯ

การลดน้ำหนักร่างกายไม่จำเป็นที่จะต้องอดอาหาร หรืองดกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต(กลุ่มข้าว-แป้ง) ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักตัวลดลงที่เร็ว แต่จะเป็นการลดจากมวลกล้ามเนื้อมากกว่ามวลไขมันซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโยโย่ เอฟเฟกต์

คำเตือน : เวลากินอาหารควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรต หรือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย

3. ควบคุมการกินน้ำตาล ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนมไทย ชานมไข่มุก เค้ก ลูกอม น้ำหวาน ผลไม้รสหวาน (ทุเรียน เงาะ ลำไย มะม่วงสุก ฯลฯ) เป็นต้น เพราะน้ำตาลคือคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม ถ้าหากกินมากเกินไปก็จะสะสมเป็นไขมัน

วิธีควบคุมน้ำตาล   

  • สั่งเครื่องดื่มหวานน้อยหรือไม่มีน้ำตาล
  • ลดหรือไม่เติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมลงในอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ น้ำผลไม้(ควรดื่มคั้นสดไม่ผ่านการปรุงแต่ง) เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน ขนุน เงาะ ลำไย มะม่วงสุก มะละกอสุก เป็นต้น
  • เลือกทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี: ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮวีท แทน ธัญพืชขัดสี: ข้าวขาว ขนมปังขาว
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย ‘ฉลากทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)’ เป็นสัญลักษณ์ว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสมต่อการบริโภค
ฉลากทางเลือกสุขภาพ

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นประจำกระทำเป็นนิสัย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เพื่อให้ร่างกายเผาผลาญมวลไขมัน และในหนึ่งสัปดาห์ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที

5 .ยิ่งดื่มน้ำมากเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น เราควรดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพราะน้ำจะทำให้ร่างกายรู้สึกเต็มอิ่มและไม่รู้สึกหิว อ่ายวิจัยเรื่อง ดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร ลดน้ำหนักได้

6. เลือกแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆทั้งง่ายและรวดเร็ว แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะ ‘ไม่ถูกต้อง’ และนำไปสู่ความรู้ผิดๆในการปฏิบัติ ดังนั้นควรเลือกข้อมูลแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ และมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เช่น Eatwellconcept

7. จดบันทึกการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ (Dietary self-monitoring tools) เพื่อที่ตัวเองจะได้รู้และสามารถคำนวนปริมาณแคลอรี่ที่กินต่อวัน ได้อย่างคร่าวๆ จะได้เป็นตัวช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารได้

8. ปรึกษานักกำหนดอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ทางด้านโภชนาการเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้เหมาะสมและถูกต้องต่อสภาวะร่างกายแต่ละบุคคลได้มากที่สุด

สรุป

ชีวิตประจำวันของคนเราจำเป็นต้องมี ‘การกินอาหาร’ และระหว่างวันร่างกายของเราก็จะมี ‘การใช้พลังงาน’ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบการเผาผลาญ…นี่คือกลไกตามธรรมชาติที่ควบคุมน้ำหนักของร่างกาย

การลดน้ำหนักมีหลากหลายวิธี แต่การลดน้ำหนักแบบผิดๆ เช่น การอดอาหาร การใช้ยาลดความอ้วน หรือการไดเอตไม่จริงจัง วิธีเหล่านี้จะไป ‘ขัดขวาง’ การทำงานของร่างกาย ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญ ‘พัง’ รู้สึกอยากกินอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ทำให้เกิดการสะสมไขมันและนำไปสู่ สภาวะโยโย่ เอฟเฟกต์ (Yo – Yo Effect) หรือ ฝันร้ายของคนอยากลดน้ำหนัก

ดังนั้นเราจึงควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง ปรับวิธีการลดน้ำหนักให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะทำให้น้ำหนักลดลงตามที่ต้องการ อีกทั้งร่างกายยังมีสุขภาพดี

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • Sarah Hays Coomer.Hey, Health Coach: What Are The Long-Term Effects Of Yo-Yo Dieting?[ออนไลน์].2023,แหล่งที่มาhttps://www.forbes.com/health/body/yo-yo-dieting/ [01 กุมภาพันธ์ 2566]
  • Minesh Khatri.What Happens to Your Body When You Yo Yo Diet? [ออนไลน์].2023,แหล่งที่มาhttps://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-diet-yo-yo-diet-effect [01 กุมภาพันธ์ 2566]
  • Purcell K, Sumithran P, Prendergast L, Bouniu C, Delbridge E, Proietto J. The effect of rate weight loss on long-term weight management: a randomised control trial. The Lancet. 2014;2(12):954-962.
  • Polidori D, Sanghvi A, Seeley R, Hall K. How Strongly Does Appetite Counter Weight Loss? Quantification of the Feedback Control of Human Energy Intake. . Obesity. 2016;24(11):2289-2295.
  • Ludwig D, Ebbeling C.. The Carbohydrate-Insulin Model of Obesity: Beyond “Calories In, Calories Out.” . JAMA Intern Med. 2018;178(8):1098-1103.
  • Sartorelli D, Franco L, Cardoso M. High intake of fruits and vegetables predicts weight loss in Brazilian overweight adults. Nutrition Research. 2008;28(4):233-8.
  • Stookey J, Constant F, Popkin B, Gardner C. Drinking water is associated with weight loss in overweight dieting women independent of diet and activity. Obesity. 2008;16(11):2481-8.
  • Ma X, Chen Q, Pu Y, Guo M, Jiang Z, Huang W, Long Y, Xu Y. Skipping breakfast is associated with overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Obesity Research and Clinical Practice. 2020;14(1):1-8.
ส่งข้อความถึงเรา