fbpx

ผงไข่ขาว กับผู้ป่วยมะเร็ง

                ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีความต้องการพลังงานและโปรตีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทำการบำบัดรักษาด้วยวิธี chemotherapy (เคมีบำบัด) ฉายแสง หรือผ่าตัด เพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟู ทั้งกล้ามเนื้อ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นไปตามหลักของโภชนบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง (oncology nutrition)

ภาวะโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

  1. มีความต้องการพลังงานและโปรตีนที่เพิ่มขึ้นจากตัวโรคมะเร็ง
  2. ร่างกายเผชิญกับภาวะเจ็บป่วยที่มากยิ่งขึ้น ทั้งจากตัวโรค และจากการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็นอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือ ท้องเสีย  เจ็บแสบร้อนปาก การรับรสเปลี่ยน หรืออิ่มเร็วขึ้น

        อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งรับประทานอาหารได้น้อยลง นำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร (malnutrition) ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวต่ำ และไม่สามารถรับเคมีบำบัดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็ง จึงควรได้รับพลังงานและโปรตีนเพิ่มมากขึ้น โปรตีนที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับเพิ่มขึ้น สามารถได้จากแหล่งเนื้อสัตว์  นม  ไข่ทั้งฟอง และ ไข่ขาว

           ไข่ขาว เป็นโปรตีนหนึ่งที่เป็นโปรตีนแหล่งที่ดี แพทย์และนักกำหนดอาหารแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับเพิ่มขึ้น โดยมีโปรตีนที่เป็นพระเอก ที่เรียกว่า “อัลบูมิน” ที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ปัจจุบันมีนวัตกรรม “ผงไข่ขาว” เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือก รูปแบบชงดื่ม หรือ นำไปประกอบอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งคนทั่วไปที่มีความต้องการโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ได้รับโปรตีนสูงและสะดวกต่อการบริโภคมากยิ่งขึ้น

คุณสมบัติของไข่ขาวต่อผู้ป่วยมะเร็ง

ไข่ขาว-EWC
  1. ไข่ขาวมีโปรตีน “อัลบูมิน” เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งในเลือดของเรามีโปรตีนอัลบูมินเป็นองค์ประกอบหลักเช่นกัน แต่เมื่อมีภาวะเจ็บป่วย เช่นในผู้ป่วยมะเร็ง มักพบว่ามีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ทำให้เกิดอาการบวมได้
  2. ไข่ขาวมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ซึ่งมีส่วนช่วย
    • เสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ (muscle mass) ที่ลดลง
    • เสริมสร้างเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันที่ลดลง

คุณประโยชน์ของไข่ขาว ด้านอื่นๆ 

  • ไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคไขมันโลหิตสูงที่ต้องจำกัดไขมัน
  • ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย 
  • มีข้อเสียด้านความปลอดภัยของอาหารค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่น (เช่น สารเร่งเนื้อแดงในหมู สารปรอทและฟอร์มาลีนในปลาและอาหารทะเล เป็นต้น)
  • เป็นอาหารที่ไม่มีกลิ่นฉุน ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง
  • สะดวก และ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ  เช่น แกงจืดไข่ขาว ยำไข่ขาว ข้าวผัดไข่ขาว หรือนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น ผงไข่ขาวชงพร้อมดื่ม หรือ ซุปไข่ขาวกึ่งสำเร็จรูป

โปรตีน “อัลบูมิน” คืออะไร

อัลบูมิน เป็นโปรตีนสำคัญและมีอัตราส่วนมากที่สุดในเลือด (plasma protein) คือ ประมาณ 60% อัลบูมินถูกสร้างเป็นหลักที่ตับ มีบทบาทในการรักษาสมดุลของ oncotic pressere (การดึงน้ำไว้ในหลอดเลือด)

         ในทางโภชนาการ ระดับอัลบูบินในเลือด  เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ใช้สะท้อนภาวะโภชนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะการมีการอักเสบ (inflammation) ที่เกิดภายในร่างกายจากโรคต่างๆ รวมทั้ง โรคมะเร็ง ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีภาวะ hypoalbuminemia (ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ) ในทางกลับกัน พบว่า มีความสัมพันธ์ของระดับอัลบูมินในเลือดของผู้ป่วยมะเร็งกับอัตราการรอดชีวิต 

เจาะลึก โปรตีนอัลบูมิน และกรดอะมิโนในไข่ขาว

        อัลบูมินในอาหาร สามารถพบได้ใน เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา ชีส และ พบมากที่สุดในไข่ขาวนั่นเอง  หากรับประทานไข่ไก่ 1 ฟอง (เบอร์1 หรือ 50 กรัม) จะได้โปรตีนอัลบูมินประมาณ 6 กรัม ซึ่งองค์ประกอบของอัลบูมินในไข่ขาว ได้แก่  Ovalbumin, Conalbumin, Ovomucoid และ Lysosome

กรดอะมิโนจำเป็นในไข่ขาว มีดังนี้

       บทบาทของกรดอะมิโนส่วนใหญ่ช่วยในการสร้างโปรตีนและฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย รวมทั้งการสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกัน

  1. Leucine (ลิวซีน) : ช่วยสร้างโปรตีนและ Growth hormone ซ่อมแซมแผล และควบคุมการไหลเวียนเลือด
  2. isoleucine (ไอโซลิวซีน) : ซ่อมแซมกล้ามเนื้อและระบบภูมิคุ้มกัน สร้างเม็ดเลือดแดง
  3. lysine (ไลซีน) : เป็นสารตั้งต้นของแอลคาร์นิทีน ช่วยในการเผาผลาญไขมัน การดูดซึมของแคลเซียม
  4. threonine (ทรีโอนีน) : ช่วยในการทำงานของคอลลาเจน ส่งผลให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีแผลและการทำงานของระบบการย่อยและการดูดซึมอาหาร
  5. methionine (เมไธโอนีน) : ช่วยการดูดซึมของแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น สังกะสี (zinc) และ เซเลเนียม (selenium) ป้องกันการสะสมของไขมันในตับ
  6. phenylalanine (ฟีนิลอลานีน) : ช่วยการทำงานของสารสื่อประสาท ได้แก่ โดปามีน epinephrine  Norepinephrine ควบคุมเรื่องอารมณ์และความอิ่ม
  7. valine (วาลีน) : ช่วยประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ และการสร้างพลังงานของร่างกาย
  8. Tryptophan (ทริปโตแฟน) : ช่วยการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น เซเรโทนิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ การนอน หลับ และความอยากอาหาร        

นอกจากโปรตีนและกรดอะมิโนแล้วในไข่ไก่ยังมีสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย แต่จะเห็นได้ว่า ในไข่ขาวมีโปรตีนเป็นหลัก ดังตารางนี้ คุณค่าทางโภชนาการของไข่ไก่ 1 ฟองใหญ่ (55- 60 กรัม)

ตารางคุณค่าทางโภชนาการของไข่ไก่ 1 ฟอง

สารอาหาร (nutrient)ไข่ไก่ทั้งฟองไข่ขาวไข่แดงหน่วย
พลังงาน721755กิโลแคลอรี
โปรตีน6.33.62.7กรัม
ไขมันทั้งหมด504.5กรัม
ไขมันอิ่มตัว1.5501.62กรัม
โคเลสเตอรอล2120210มิลลิกรัม
วิตามินเอ2440245หน่วยสากล (IU)
วิตามินดี18018หน่วยสากล (IU)
วิตามินอี0.4800.48มิลลิกรัม
วิตามินบี120.650.030.33ไมโครกรัม
วิตมินบี60.0700.06มิลลิกรัม
วิตามินบี10.0400.03มิลลิกรัม
วิตามินบี20.240.150.09มิลลิกรัม
โฟเลท241.025ไมโครกรัม
เหล็ก0.920.030.46มิลลิกรัม
สังกะสี0.560.010.39มิลลิกรัม
โคลีน1260116มิลลิกรัม
ลูทีน และ ซีแซนทีน1660186ไมโครกรัม
ตารางสารอาหารไข่ไก่

งานวิจัยเรื่องอัลบูมินกับมะเร็ง

                งานวิจัยเรื่อง Anticancer and immunomodulatory activity of egg proteins and peptides  ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการต่อต้านมะเร็งของไข่ไข่ รายงานว่า โปรตีนสัดส่วนที่มีสูงที่สุดในไข่ขาว คือ อัลบูมินที่ชื่อว่า ovalbumin ตามมาด้วย ovotranferrin โดย Ovalbumin มีคุณสมบัติในการ ต้านการกลายพันธุ์ของยีน (antimutagenic) ซึ่งไข่ขาวมีคุณสมบัตินี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับโปรตีนประเภทอื่นๆ เช่น โปรตีนจากถั่วเหลือง และ โปรตีนอัลบูมินจากวัว นอกจากนั้น ทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน โปรตีนจากไข่ขาวยังมีคุณสมบัติ เป็น proinflammatory cytokine หรือสารต้านการอักเสบ จึงมีการนำไข่ขาวมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยา

ความแตกต่างระหว่างไข่ขาว กับ ผงไข่ขาว

คุณค่าทางโภชนาการไข่ขาว  1 ฟอง
(55 กรัม)
ไข่ขาวผง 1 หน่วยบริโภค
 (20-25กรัม)
พลังงาน17 กิโลแคลอรี70 – 100 กิโลแคลอรี
โปรตีน3.6 กรัม
(มีอัลบูมิน 6 กรัม)
10-18 กรัม

ด้านคุณค่าทางโภชนาการ

  • ไข่ขาว 1 ฟอง (55กรัม) :  มีพลังงาน 17 กิโลแคลอรี โปรตีนประมาณ 3.6 กรัม โดยเป็นอัลบูมิน 6 กรัม ไข่ขาวผง 1 หน่วยบริโภค (น้ำหนัก 20-25 กรัม)   มีพลังงาน 70-100 กิโลแคลอรี โปรตีน 10-18 กรัม คุณค่าทางโภชนาการจึงเทียบเท่ากับการทานไข่ขาว ปริมาณ 3- 5 ฟอง
  • ผงไข่ขาวบางยี่ห้อ ถูกสกัดนำเอา Avidin (โปรตีน) และ Lyszyme (เอนไซม์) ออก ซึ่งสารสองตัวนี้ เป็นสารที่จับกับวิตามินบี แล้วยับยั้งการดูดซึมวิตามินบีในร่างกาย อาจส่งผลต่อภาวะขาดวิตามินบีได้ ซึ่งพบได้ในผู้ที่ทานไข่ลวกหรือไข่ดิบเป็นประจำ
  • ผงไข่ขาวในท้องตลาด มีทั้งแบบทำมาจากไข่ขาว 100 % หรือแบบที่มีการเติมโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ เช่น โปรตีนจากถั่วลันเตา หรือมีการเติมส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้ได้รับสารอาหารอื่นๆครบถ้วนมากขึ้น เช่น มอลโตเด็กทรินซ์ (คาร์โบไฮเดรต) จากแป้งมันสำปะหลัง และหรือเติมวิตามินและแร่ธาตุ อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น

ด้านราคา : ไข่ขาวจากไข่ไก่สด มีราคาถูกกว่าไข่ขาวผง

ด้านอื่นๆ : ผงไข่ขาวส่วนใหญ่จะมีการแต่งกลิ่นต่างๆ เช่น วานิลลา โกโก้ กาแฟ ชาเขียว เป็นต้น

คำแนะนำในการกิน ผงไข่ขาว และโปรตีน สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

World Cancer Research Fund (WCRF) ให้คำแนะนำเรื่องความต้องการโปรตีนของผู้ป่วยมะเร็งว่า ควรได้รับโปรตีน 1-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน

ยกตัวอย่าง  การกินอาหารให้ได้โปรตีน 70 กรัม ร่วมกับโปรตีนจากไข่ขาว หรือ ไข่ขาวผง

    หากกินข้าว 2 ทัพพี + เนื้อสัตว์ (เช่น หมู ไก่ ปลา หรือเต้าหู้)  4 ช้อนโต๊ะ/มื้อ + นมสดไขมันต่ำหรือนมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) จะได้โปรตีนรวม 54 กรัม ขาดโปรตีนอีก 16 กรัม

          นอกจากโปรตีนจากไข่ขาว ผู้ป่วยมะเร็งสามารถบริโภคโปรตีนจากแหล่งอื่นๆได้ ทั้งโปรตีนจากสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา อาหารทะเล และโปรตีนจากพืช โดยโปรตีนจากสัตว์ นอกจากจะเป็นแหล่งของกรดอะมิโนจำเป็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และสังกะสี อย่างไรก็ตาม  สำหรับเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ) และเนื้อสัตว์แปรรูปมีรายงานว่าพบความสัมพันธ์ ของปริมาณที่บริโภคกับความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ที่เพิ่มขึ้น  จึงมีคำแนะนำให้บริโภคเนื้อแดงในปริมาณพอเหมาะ และควรจำกัดปริมาณเนื้อสัตว์แปรรูป

  • หากเลือกกินไข่ขาว (เช่น ไข่ขาวต้ม) ควรเพิ่มอีก 4-5 ฟอง/วัน
  • หากเลือกกินผลิตภันฑ์เสริมอาหารจากไข่ขาวผง (โปรตีน 10- 18 กรัม) ควรเพิ่ม 1-2 แก้ว/วัน โดยควรดูฉลากโภชนาการของแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อคำนวณปริมาณโปรตีนที่ควรกินเพิ่มเติมที่เหมาะสม

โปรตีน จากแหล่งอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งสามารถกินได้

         ส่วนโปรตีนจากพืช  ข้อดีคือ ไม่มีคอเลสเตอรอล มีไขมันอิ่มตัวต่ำ และมีใยอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ แต่มีกรดอะมิโนไม่ครบถ้วน ธาตุเหล็กและวิตามินบี12 ต่ำ จึงควรกินให้หลากหลาย ตัวอย่างของโปรตีนจากพืช ได้แก่ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลืองและเต้าหู้ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ (chickpea) ถั่วเลนทิล (lentil) ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโพด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ แหล่งโปรตีน และ เนื้อสัตว์จากพืช

ข้อควรระวังในการกินไข่ขาวและ ผงไข่ขาว

  1. ผู้ที่แพ้ไข่ขาว ควรหลีกเลี่ยงทั้งไข่ขาวและผลิตภัณฑ์จากไข่ขาว
  2. ผู้ที่เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง (chronic kidney disease) ในระยะที่ยังไม่ได้ฟอกไต จำเป็นต้องจำกัดปริมาณการบริโภคโปรตีนทุกประเภท รวมทั้งโปรตีนจากไข่ขาวและผงไข่ขาวด้วย และควรรับคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์และนักกำหนดอาหาร                                                  
  3. สำหรับการกินไข่ขาวแบบฟอง ควรกินไข่ขาวที่ปรุงสุก เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งมีภูมิคุ้มกันต่ำลง
  4. ในกรณีรับประทานยาเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ ไม่แนะนำให้กินผงไข่ขาวพร้อมกับยา เพราะอาจจะไปขวางการดูดซึมของยา
  5. ผงไข่ขาว เป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เท่านั้น ไม่ควรบริโภคแทนอาหารมื้อหลักทุกมื้อ

สรุปคำแนะนำการกินโปรตีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

  • ควรบริโภคพลังงานและโปรตีนให้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงที่ทำการบำบัดรักษา  โดยเลือกโปรตีนจากไข่ขาว หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น ผงไข่ขาว ช่วยทดแทนหรือเสริมโปรตีนที่กินได้ไม่เพียงพอได้  
  • อย่าลืมรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และพลังงานรวมให้เพียงพอ ไม่ควรมุ่งเน้นในการเพิ่มโปรตีนอย่างเดียวจนไม่ได้ทานอาหารในหมวดอื่นๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ไหม้เกรียม หมักดอง และปรุงไม่สุก
  • นอกจากผงไข่ขาว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไข่ขาว เช่น ไข่ขาวพาสเจอร์ไรซ์ เต้าหู้ไข่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวไข่ขาว ที่สามารถเป็นโปรตีนทางเลือกได้ เพื่อกินได้หลากหลาย  และไม่เบื่ออาหารจนเกินไป

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • อัลบูมิน คืออะไร  

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8881485/

  • บทบาทของอัลบูมินกับมะเร็ง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4691717/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4423133/

  • คุณค่าทางโภชนาการของไข่ไก่

https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/FOOD/search_detail/dowload_digital_file/43579/110296

– https://www.foodnetworksolution.com

  • แหล่งของโปรตีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง World Cancer Research Fund

https://www.wcrf-uk.org/health-advice-and-support/living-with-cancer/how-important-is-protein-during-cancer/

https://www.wcrf-uk.org/health-advice-and-support/living-with-cancer/eat-well-during-cancer/can-i-eat-meat-if-i-have-or-have-had-cancer/

https://www.wcrf.org/wp-content/uploads/2021/01/Matrix-for-all-cancers-A3.pdf

  • โภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

– ESPEN practical guideline: Clinical Nutrition in cancer

https://www.espen.org/files/ESPEN-Guidelines/ESPEN-practical-guideline-clinical-nutrition-in-cancer.pdf

  • ผู้ป่วยมะเร็งกับการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ศ. นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกูล  https://bit.ly/3ZPlFh6
  • งานวิจัยเกี่ยวกับอัลบูมินและมะเร็ง

Lee, J. H., & Paik, H. D. (2019). Anticancer and immunomodulatory activity of egg proteins and peptides: a review. Poultry science, 98(12), 6505–6516. https://doi.org/10.3382/ps/pez381

  • นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากไข่ขาว

https://www.chula.ac.th/clipping/14699/

– https://www.chula.ac.th/highlight/74106/

https://www.chula.ac.th/news/14787/

– https://www.chula.ac.th/highlight/50000/

https://www.gherbherbal.com

https://www.hemomin.com/

ส่งข้อความถึงเรา