fbpx

การดูแล อาหาร ผู้สูงอายุ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆไปตามเวลา นั่นยิ่งทำให้ต้องมีการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เพราะหากผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจ ดูแลเรื่องอาหารของผู้สูงอายุให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบถ้วน เพื่อการมีสุขภาพที่ดี แล้วการดูแล อาหาร สำหรับ ผู้สูงอายุ ควรดูแลเรื่องใดบ้าง มาดูกัน

พลังงาน

  • ผู้สูงอายุควรได้รับพลังงานวันละ 1,400 – 1,800 กิโลแคลอรี ซึ่งปริมาณความต้องการนั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว โรคประจำตัว และกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุแต่ละคน โดยพลังงานที่ได้ควรมาจากอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ครบ 3 มื้อ และอาจมีมื้อเล็กๆเสริมระหว่างวันอีก 2 มื้อ เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ

อาหาร ที่สำคัญใน ผู้สูงอายุ

การดูแลอาหารผู้สูงอายุ-EWC

โปรตีน

  • ผู้สูงอายุ ควรได้รับโปรตีน 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน (หากมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดโปรตีน ให้ปรับตามคำแนะนำของแพทย์และนักกำหนดอาหาร) การที่ผู้สูงอายุต้องได้รับโปรตีนที่เพียงพอในแต่ละวัน ก็เพื่อช่วยคงสภาพและป้องกันการสลายของกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญที่คอยช่วยพยุงร่างกาย ลดโอกาสการหกล้ม ซึ่งเป็นข้อควรระวังในผู้สูงอายุ สำหรับชนิดโปรตีนที่แนะนำ คือ โปรตีนที่มีคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ เป็นต้น หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง ไส้กรอก แหนม กุนเชียง

คาร์โบไฮเดรต

  • ผู้สูงอายุ ที่สุขภาพดีควรกินข้าวแป้งที่ให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต 7-9 ทัพพี ต่อวัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชต่างๆ แต่ในกรณีที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ควรลดปริมาณข้าวแป้งเหลือ 6 ทัพพีต่อวัน หรือปรึกษานักกำหนดอาหารเพิ่มเติมเพื่อกำหนดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น

ไขมัน

  • ผู้สูงอายุ ยังจำเป็นที่ต้องได้รับไขมันอยู่แต่จำกัดปริมาณไม่ให้มากเกินไป ไขมันจะให้พลังงานแก่ร่างกาย และให้ร่างกายได้รับกรดไขมันจำเป็น รวมถึงวิตามินที่ละลายในไขมัน ทั้งนี้ควรเลือกชนิดไขมันให้เป็นไขมันดี เช่น ปลาทะเล น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันสัตว์ เนย ครีม กะทิ

ผัก ผลไม้

  • เป็นแหล่งใยอาหาร และวิตามินที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับผัก ควรบริโภคประมาณ 4 ทัพพีต่อวัน อาจเน้นไปทางผักสุกมากกว่าผักดิบ เพราะหากกินผักดิบในปริมาณมาก จะทำให้ท้องอืดได้ สำหรับผลไม้ ควรกินไม่เกิน 3 กำปั้นมื้อต่อวัน เนื่องจากผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาล หากกินเยอะเกินไป จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ และแนะนำให้ผู้สูงอายุกินเป็นผลไม้สด เช่น กล้วย มะละกอ แก้วมังกร ส้ม มากกว่าการดื่มน้ำผลไม้ เพราะจะได้ใยอาหารและสามารถควบคุมปริมาณได้  

แคลเซียม

  • จะช่วยบำรุงกระดูก ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ซึ่งผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแหล่งของแคลเซียมคือ นมจืด ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำรสธรรมชาติ หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ควรเลือกสูตรที่ไม่มีน้ำตาลหรือหวานน้อย ควรดื่ม 1-2 แก้วต่อวัน (หากผู้สูงอายุมีอาการท้องอืด ท้องเสีย เมื่อดื่มนมวัว แนะนำให้เลือกนมวัวสูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส) รวมถึงปลาตัวเล็กตัวน้อย เช่น ปลาข้าวสาร ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ผักโขม ก็เป็นแหล่งของแคลเซียมเช่นเดียวกัน

วิตามินดี ของดีช่วยดูดซึมแคลเซียม

  • ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยปกติร่างกายจะสร้างวิตามินดีเองได้เมื่อได้รับแสงแดดในเวลาประมาณ 6.00-8.00 น. หรือ 16.00-18.00น. 15-20 นาที ต่อวัน ทุกวันหรืออย่างน้อย 2 -3 ครั้งต่อสัปดาห์  แต่ส่วนใหญ่พบว่า ผู้สูงอายุมีภาวะขาดวิตามินดี ดังนั้นควรดื่มนมที่มีการเสริมวิตามินดีร่วมด้วย หรือไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเรื่องการเสริมวิตามินชนิดนี้ 

น้ำเปล่า สิ่งที่สำคัญที่สุด

  • ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำเปล่าวันละ 6-8 แก้ว โดยจิบเรื่อยๆ ระหว่างวัน ไม่เน้นดื่มแค่ช่วงมื้ออาหารเพราะจะทำให้อิ่มเร็ว กินอาหารได้น้อย หรือรู้สึกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ ในผู้สูงอายุที่ไตเริ่มเสื่อมโดยธรรมชาติ การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยในการทำงานของไต ให้ขับของเสียออกทางปัสสาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กรณีผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ต้องมีการจำกัดน้ำ ควรได้รับคำแนะนำการดื่มน้ำจากแพทย์ นักกำหนดอาหารเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย

ควบคุมอาหารตามโรคประจำตัว

  • หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ที่ต้องควบคุมอาหาร เช่น การลดหวาน มัน เค็ม ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับเพื่อไม่ให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพได้

ลักษณะ อาหาร ที่เหมาะกับ ผู้สูงอายุ

  • ควรนิ่ม เคี้ยวง่าย โดยเนื้อสัตว์อาจจะนำไปบดสับก่อนมาปรุง และระวังการสำลักขณะกินอาหาร ในบางครั้งการกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของผู้สูงอายุได้

นอกจากนี้การดูแลด้านจิตใจของผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งที่จำเป็น การกินข้าวพร้อมกับคนในครอบครัว มีคนคอยนั่งเป็นเพื่อนขณะกินอาหาร และหน้าตาอาหารที่น่ากิน ก็มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุกินอาหารได้เยอะขึ้นเช่นเดียวกัน อย่าลืมลองนำเทคนิคการดูแลอาหารสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของทุกคน ให้มีการกินที่ดี เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีกันนะคะ

ส่วนใครที่ดูแลผู้สูงอายุ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณยาย แล้วมีโรคประจำตัวสามารถปรึกษากับนักกำหนดอาหารกับเราได้ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (มีใบประกอบโรคศิลป์) จะวิเคราะห์ผลตรวจโรคและออกแบบเพลนอาหารให้ความรู้ให้ตรงกับโรคและความต้องการของร่างกายรายบุคคล ดูแลเรื่องอาหารให้กินได้อย่างอร่อย

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

  • ตารางปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 Dietary reference intake tables for Thais 2020. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/download/?did=194515&id=47232&reload=
  • สื่อความรู้ด้านโภชนาการ สำหรับผู้สูงอายุ. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/download/?did=194497&id=47224&reload=
ส่งข้อความถึงเรา