fbpx

10 สมุนไพร ที่ต้องระวังในคนไข้ โรคไต

สมุนไพร โรคไต กับผู้ป่วยหลายคนที่ต้องการใช้สมุนไพร หรือยาสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการของโรคไตเสื่อมเรื้อรังให้ดีขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า สมุนไพรบางชนิดจากที่จะส่งผลดี อาจส่งผลเสียทำให้โรคไตแย่ลง หรือร้ายแรงถึงชีวิต ทั้งนี้  National Kidney Foundation ได้ระบุไว้ใน แนวทางเวชปฏิบัติของโรคไต (Kidney Disease Outcomes Quality Initiative ; KDOQI) ว่า

ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรในการนำมาใช้รักษาโรคในผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรัง

            ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับสารต่างๆออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่เมื่อไตเสื่อมแล้ว ประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การขับของสารต่างๆ จะลดลง เพราะฉะนั้น ก่อนจะฟังคำบอกเล่าปากต่อปาก หรือ คำกล่าวอ้างทางโฆษณา ทางแพทย์และนักกำหนดอาหารอยากให้คนไข้โรคไตทุกท่าน พิจารณาให้ดีเพื่อสุขภาพของคุณ หรือคนที่คุณรัก

            ทั้งนี้ คนไข้โรคไตเสื่อมเรื้อรังควรทราบว่าการควบคุมจำกัดสารอาหารและสารต่างๆในปริมาณที่กำหนดมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน  วิตามิน และเกลือแร่ โดยเกลือแร่หลัก 3 ตัว ที่มีความสำคัญต่อโรคไต คือ โซเดียม โพแทสเซียม  ฟอสเฟต

จากรายงานจำนวนไม่น้อยพบคนไข้โรคไตได้รับพิษจากการใช้สมุนไพร   เนื่องจากสมุนไพรส่วนใหญ่มีเกลือแร่โพแทสเซียม ฟอสเฟตสูง และอีกตัวหนึ่งที่พบได้บ่อย คือ กรดออกซาเลต ซึ่งทั้งสามตัวนี้ขับออกทางไต

ทำความรู้จักสามตัวนี้กันสักเล็กน้อย

  • โพแทสเซียม : มีบทบาทเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ เมื่อไตเสื่อม จะทำให้ขับโพแทสเซียมขับออกได้น้อยลง โพแทสเซียมในเลือดจึงสูงกว่าปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ

คำแนะนำ : ไม่ควรได้รับเกิน 1,500 – 2,000 มิลลิกรัม/วัน  โดยส่วนใหญ่พบมากในผัก ผลไม้  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่อง โรคไตกินผักอะไรได้บ้าง และ เรื่องไตไต อาหารโรคไต เมื่อไรที่ต้องลดโพแทสเซียม

  • ฟอสเฟต : เกี่ยวกับการควบคุมสมดุลของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ การสร้างและทำลายกระดูก รวมทั้งควบคุมแคลเซียมในหลอดเลือด หากพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะเกิดการดึงแคลเซียมมาสะสมที่หลอดเลือด เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้

คำแนะนำ : ไม่ควรได้รับเกิน 800 – 1000 มิลลิกรัม/วัน  โดยส่วนใหญ่พบมากใน นม ไข่แดง หรือถั่วเมล็ดแห้ง

  • กรดออกซาเลต : หากคนไข้โรคไตได้รับออกซาเลตปริมาณมาก สามารถจับตัวกับแคลเซี่ยมในไต ตกตะกอนเป็นผลึกนิ่ว อุดตันในท่อไตและเนื้อไตได้ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะปริมาณลดลง  หรือ ไตวายเฉียบพลัน

คำแนะนำ : ไม่ควรได้รับเกิน 100 มิลลิกรัม โดยส่วนใหญ่พบมากใน ผักดิบบางประเภท เช่น ผักโขม ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี หรือ มันฝรั่ง เป็นต้น

หมายเหตุ : คำแนะนำปริมาณเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังในระยะก่อนได้รับการบำบัดทดแทนไต

สมุนไพรที่มีหลักฐานงานวิจัยที่แน่ชัดว่ามีพิษต่อไต 

สามารถแบ่งกลุ่มได้ ดังนี้

สมุนไพรที่มีโพแทสเซียมสูง

1. หญ้าหนวดแมว

มีโพแทสเซียมสูง (5,000 มิลลิกรัมต่อ100กรัม) ควรหลีกเลี่ยง เพราะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น

หญ้าหนวดแมว-EWC
หญ้าหนวดแมว

2. ลูกยอและน้ำลูกยอ

ถึงแม้จะมีวิตามิน ซี วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระสูง แต่มีโพแทสเซียมสูงเช่นกัน หากได้รับปริมาณมาก แต่ขับออกได้จำกัด ส่งผลทำให้หัวใจผิดปกติและถึงขั้นเสียชีวิตได้

ลูกยอ-EWC
ลูกยอ

สมุนไพรที่เพิ่มการขับโพแทสเซียม

3. ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศจะเปลี่ยนเป็น สาร “ไกเซอร์ริซิน ”  ที่เพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่เพิ่มการดูดกลับเกลือที่ไต และ เพิ่มการขับโพแทสเซียม เกิดภาวะโพแทสเซียต่ำ ความดันโลหิตสูง และอาการบวม  หากร้ายแรงอาจถึงขั้นไตวายเฉียบพลันได้

ชะเอมเทศ-EWC
ชะเอมเทศ

สมุนไพรที่มีออกซาเลตสูง

4. มะเฟือง และ ชาดำ (ปริมาณมาก)

หากคนไข้โรคไตได้รับออกซาเลตปริมาณมาก ออกซาเลตจะจับตัวกับแคลเซียม และอุดตันที่ท่อไต โดยพบว่า มะเฟืองเปรี้ยวมีออกซาเลตสูงกว่ามะเฟืองหวานถึง 4 เท่า  และมีรายงานว่ามีผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากการบริโภคมะเฟืองที่นำไปคั้นเป็นน้ำผลไม้

มะเฟือง-EWC
มะเฟือง
ชาดำ-EWC
ชาดำ

5. สมุนไพรที่มีกรดเอริสโทโลคิก (aristolochic acid)

ได้แก่ มูตอง ไคร้เครือ แมนจูเลียไปป์ไวน์  อาจพบได้ในยาที่มีคำกล่าวอ้างในการลดน้ำหนัก ยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และ สมุนไพรจีนบางชนิด สมุนไพรเหล่านี้จะทำให้เกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อรอบไต เป็นพังผืด ทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง จนต้องฟอกไต รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ รวมทั้ง เซนต์จอห์เวิร์ต สนยูจีน  โคกกระสุน หรือ มาฮวง ที่มีรายงานว่าทำให้เกิดไตวาย

สารอื่นๆ

6. มะขามแขก

มี สาร “เซนโนไซด์”  ซึ่งถูกขับออกทางไต หากกินเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมที่ไตได้

มะขามแขก-EWC
มะขามแขก

7. ลูกเนียง

มี “กรดแจงโคลิก” เกิดจากกรดอะมิโนที่มีกำมะถันสูง ตกตะกอนและอุดตันในท่อไตจนถึงขั้นทำให้ไตวาเฉียบพลันได้ มีรายงานว่า พิษจากลูกเนียงมักสัมพันธ์กับการกินลูกเนียงดิบร่วมกับการดื่มน้ำน้อย ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษ คือ ตั้งแต่ 1-20 เมล็ด(1 ฝักใหญ่) ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะลำบาก ขุ่นหรือเป็นเลือด ปวดท้องเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกเนียงดิบ

ลูกเนียง-EWC
ลูกเนียง

สมุนไพรที่อ้างว่ามีสรรพคุณ “บำรุงไต”

นอกจากสมุนไพรที่เป็นพิษต่อไต ยังมีสมุนไพรบางชนิดที่ อ้างว่ามีสรรพคุณ “บำรุงไต” แต่ความเป็นจริงไม่ได้มีสรรพคุณเช่นนั้น หรืออาจเป็นพิษร้ายแรงได้ ได้แก่

8. ถั่งเช่า

      ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่า เพราะพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางแห่ง มีโลหะหนัก Arsenic (สารหนู) ในปริมาณสูง มีผลเสียต่อไตในระยะยาว เช่น กรณีศึกษาของ ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 67 ปี เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่5 ค่าอัตราการกรองของไต (eGFR) 14 มล/นาที/1.73ม2  ดื่มถั่งเช่าประมาณ6 เดือน จนพบว่าค่าไตเสื่อมลงอย่างรุนแรง เหลือเพียง 3.1 และต้องทำการฟอกไต

ถั่งเช่า-EWC
ถั่งเช่า

9. เห็ดหลินจือ

ถูกกล่าวอ้างถึงสรรพคุณในการต้านการอักเสบของไต  แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ที่เพียงพอ

เห็ดหลินจือ-EWC
เห็ดหลินจือ

10. ใบยอและมะตูม

ยังไม่มีรายงานทั้งในสัตว์ และในคน นอกจากจะไม่ได้ช่วยรักษาแล้ว อาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพราะมะตูมแห้งมีโพแทสเซียมสูง  ถึง 1,000 มิลลิกรัม/100 กรัม และ ใบยอดิบมีโพแทสเซียม 270 มก/100 กรัม

มะตูม-EWC
มะตูม

สมุนไพรที่ถูกกล่าวอ้างว่า เป็นยาล้างไต

            บ่อยครั้งเภสัชกรมักพบ คนไข้ถามหา “ยาล้างไต”  เพื่อ ‘ล้างไตทำความสะอาด ขับสารพิษออกจากไต’ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด สมุนไพรเหล่านั้น ได้แก่  สารสกัดบูชู (bucha leaves)  สารสกัด อวูาเออรซ์  (Uva Ursi)  และผลจูนิเปอร์ (Juniper Berry)  นอกจากจะไม่มีสรรพคุณเหล่านั้นแล้ว ไตอาจได้รับผลเสียจากตัวยาที่มีสารเมทิลีนบลู (สารสีน้ำเงิน) ซึ่งห้ามใช้ในผู้ป่วยไตเสื่อม

สมุนไพรที่รับประทานได้ในรูปแบบอาหาร (ในปริมาณเหมาะสม)

กระเทียม

มีกรดออกซาเลต 200-400 มก/100 กรัม สามารถกินแบบสดได้ เนื่องจากการกินกระเทียมต่อ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 หัว หรือ30 กรัม และหากผ่านการปรุงจะทำให้กรดออกซาเลตลดลงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรกินจากอาหาร ไม่ใช่ในรูปอัดเม็ดหรือยา

            โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า การกินสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแบบสด  คั้นน้ำ หรือ รูปแบบยา จากที่จะช่วยบรรเทาโรค กลับทำให้ไตทำงานหนักกว่าเดิม ส่งผลถึงขั้นทำให้ไตวายเฉียบพลัน หรือส่งผลต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้

ในอดีตสมุนไพรถูกนำมาใช้มานานแล้ว ทำไมปัจจุบันถึงห้าม/ไม่แนะนำให้บริโภค ?  

  • การกำหนดปริมาณการบริโภคของสมุนไพรแต่ละครั้งทำได้ยาก เพราะไม่มีกระบวนการที่ควบคุมสารต่างๆในสมุนไพรให้คงที่ รวมทั้งสารต่าง เปลี่ยนไปตามปัจจัย เช่น บริเวณที่ปลูก วิธีสกัดสารสำคัญ
  • การปนเปื้อนที่เป็นพิษในขั้นตอนการผลิต เช่น สเตียรอยด์ ที่กดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นหรือ การปนเปื้อนโลหะหนัก
  • ผลการศึกษาวิจัยน้อย คำกล่าวอ้างที่บอกว่าได้ผล อาจเป็นเพียงในหลอดทดลอง ในสัตว์ หรือในคนปกติที่ ไม่ได้เป็นโรคไต ซึ่งในทางกลับกัน อาจส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยโรคไตได้
  • ผลต่อการดูดซึมของยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับ เช่น ทำให้การทำงานของยาลดลง หรือมากขึ้นเกินไป เพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันลดลง หรือ หากใช้ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเลือดออกได้

งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรคนไข้โรคไต

1.Prevalence of herbal and dietary supplement usage in Thai outpatients with chronic kidney disease: a cross-sectional survey

            งานวิจัยในประเทศไทย รูปแบบ cross-sectional survey สอบถามปริมาณการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (herbal and dietary supplement ; HDS) ในคนไข้โรคไตเรื้อรัง จำนวน 421 คน มีการใช้สมุนไพรถึง 45% พบว่า สมุนไพรยอดนิยมที่ใช้ได้แก่ เห็ดหลินจือ หญ้าไผ่น้ำ และกระชาย โดยเหตุผลที่ใช้อันดับแรก คือ ครอบครัวและเพื่อนแนะนำ และคนไข้ถึง 72 % ไม่ได้แจ้งแพทย์ 

2. Acute kidney injury related to Cordyceps militaris : A case series

            งานวิจัยภาวะไตวายฉียบพลันจากถั่งเช่าสีทอง พบว่าถั่งเช่าสีทองในประเทศไทย ถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 400 รายการ ซึ่งนอกจากสาร “cordycepin” ในถั่งเช่า ยังพบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักด้วย จากรายงานพบผู้ป่วย 11 ราย มีอาการบาดเจ็บที่ไตเฉียบพลัน (AKI) ส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง เป็นผู้สูงอายุ และเคยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ถึง 5 โดยผู้ป่วย 2 รายต้องได้รับการล้างไต 

คำแนะนำจากนักกำหนดอาหารวิชาชีพ

  1. การได้รับผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางชนิด นอกจากส่งผลต่อโรคไตแล้ว ยังอาจส่งผลต่อภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ ซึ่งอันตรายต่อคนไข้โรคไตอย่างมาก
  2. หากต้องการกินสมุนไพร ควรกินในรูปของการนำมาปรุงอาหารควบคู่กับการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่  เช่น ห่อหมกใบยอ แกงส้มมะรุม และควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ควรรับประทานอาหารเมนูเดิมซ้ำๆ และไม่ควรกินแบบคั้นน้ำสดๆ ปั่นรวม หรือ สกัดเข้มข้น เพราะจะได้รับสมุนไพรในปริมาณมากเกินไป
  3. นอกจากการระมัดระวังจากสมุนไพร คนไข้โรคไตควรได้รับการดูแลในด้านอื่นๆ ให้ครบองค์รวม
    • โภชนาการในอาหาร : จำกัดการกินโปรตีน ควบคุมการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสเฟตสูง
    • ผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง : เช่น ผักโขม หน่อไม้ ใบขี้เหล
    • ผักผลไม้ที่มีออกซาเลตสูง : เช่น มันสำปะหลัง ผักโขม โกฐน้ำเต้า บีทรูท เผือก ผักแพว ปวยเล้ง อัลมอนด์ โกโก้ ซึ่งการปรุงจะช่วยลดกรดออกซาเลตได้ รวมทั้ง วิตามินซีและแคลเซียมจากอาหาร สามารถช่วยดูดซึมไม่ให้เกิดนิ่วในไตได้
    • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 10 – 12 แก้วต่อวัน
    • พักผ่อนอย่างเพียงพอ

ข้อสรุปเกี่ยวกับสมุนไพรในโรคไต

  •  ไม่แนะนำให้ใช้ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยาสมุนไพรในผู้ป่วยโรคไต เพราะอาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต และข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรใดที่มีหลักฐานทางการแพทย์ และการศึกษาในมนุษย์ที่มากเพียงพอพอ ที่สนับสนุนว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังได้
  • หากต้องการใช้ยาหรืออาหารเสริมใดๆ จริงๆ  ควรปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร หรือเภสัชกร เพื่อให้ช่วยเน้นย้ำว่าไม่มีผลเสียต่อการทำงานของไต  และ ไม่ยับยั้งการทำงานของยาที่ได้รับ ที่สำคัญ ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ตรวจติดตามการทำงานของไตและตับอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3 เดือน

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

แหล่งอ้างอิง

1. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. (2563). แนวทางเวชปฏิบัติโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตในผู้ใหญ่ 2561, สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. จาก

2. Inker LA, Astor BC, Fox CH, et al. KDOQI US Commentary on the 2012 KDIGO Clinical Practice Guideline for the Evaluation and Management of CKD. Am J Kidney Dis. 2014 Mar 16.

Available from : https://www.ajkd.org/action/showPdf?pii=S0272-6386%2814%2900491-0

3. นพ.พันทดนย์ ศิริวงศ์รังสรร, โรคไตใครว่ายาก.-กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพชรประกาย, 2566

4. National kidney foundation. (2019) “ Herbal Supplements and Kidney Disease” [Online].

Available from : https://www.kidney.org/atoz/content/herbalsupp#it-safe-to-use-herbal-supplements-if-i-have-kidney-disease

5. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย (2564) ข้อแนะนาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เรื่อง “การใช้ถั่งเช่ารักษาโรคไต”, สืบค้นเมื่อ18 มีนาคม 2566. จาก

6. รศ. ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ (2556) ผักผลไม้ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/141/

7. นักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ (2564). ผักผลไม้ก็ทำให้ไตวายได้, สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-induces-acute-kidney-failure

8. ภก. สุรศักดิ์ วัชัยโย (2557) “ยาล้างไต” กับ ความเข้าใจผิดๆ. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0192.pdf

9. รายการรู้ทันข่าวลวงสุขภาพ ตอนใบยอ มะตูม รักษาโรคไต เบาหวาน ได้จริงหรือ? ช่อง Mahidol channel  

จาก https://youtu.be/nNZ83ljEUl8

10. รายการ ชัวร์หรือมั่ว ผู้ป่วยโรคไตห้ามกินกระเทียม ? จาก https://youtu.be/KuLDuycR6Vg

งานวิจัยที่กล่าวถึงในบทความ

1. Tangkiatkumjai, M., Boardman, H., Praditpornsilpa, K., & Walker, D. M. (2013). Prevalence of herbal and dietary supplement usage in Thai outpatients with chronic kidney disease: a cross-sectional survey. BMC complementary and alternative medicine, 13, 153.https://doi.org/10.1186/1472-6882-13-153

2. Mayuree Tangkiatkumjai, Supatyada Chaiyarak, Suwannee Sriprach et al. Acute kidney injury related to Cordyceps militaris: A case series, 13 May 2022, PREPRINT (Version 1) available at Research Square [https://doi.org/10.21203/rs.3.rs-1420916/v1]https://doi.org/10.21203/rs.3.rs-1420916/v1

ส่งข้อความถึงเรา